จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 339 : สุดท้ายปลายทาง 2

จิตวิทยาผู้สูงวัย-339

      

จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 339 : สุดท้ายปลายทาง 2

คำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ร่างกายของเราเสื่อมสภาพลงได้อย่างไร? แล้วร่างกายและพฤติกรรมของเราเปลี่ยนแปลงไปตามสังขารณ์อย่างไร? มี 2 ทฤษฎีที่นักวิจัยอธิบายกระบวนการชราภาพ โดยทฤษฎีแรกเป็นชราภาพตามธรรมชาติ (By chance) ส่วนทฤษฎีหลังเป็นชราภาพไปตามอำเภอใจ (By choice) กล่าวคือมีโอกาสเลือกได้ แล้วแต่พฤติกรรม ทฤษฎีแรกกล่าวว่า ร่างกายของเราเสื่อมสภาพลงเนื่องจากปัญหาหรือการสลายตัวของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งลดความสามารถลงในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ผลลัพธ์ก็คือ เกิดการทำลายระบบป้องกันอันตรายต่อสารพิษและเกิดการเพิ่มจำนวนที่บกพร่องของกลไกลพันธุกรรม หรือรหัสดีเอ็นเอ (DNA = Deoxyribonucleic acid) ซึ่งจะแทรกแซงโครงสร้างและการทำงานของเซลล์

อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า ร่างกายของคนเราเสื่อมสภาพลง เพราะมีการตั้งเวลาในนาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) ไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะกำหนดจำนวนครั้งที่เซลล์สามารถแบ่งตัวและทวีคูณได้ (Divide and multiply) เมื่อถึงเวลาดังกล่าว เซลล์ก็จะเริ่มเสื่อมลงและตายไปแล้วชราภาพก็เกิดขึ้น แต่สามารถชะลอเวลา (และวัย) ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม อันได้แก่อาหาร, โรคภัยไข้เจ็บ, การออกกำลังกาย, และวิถีชีวิต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จำกัดช่วงชีวิตของมนุษย์ (Human life span) ให้สูงสุดเพียง 120 ปี

อันที่จริง เมื่อเราแก่ตัวลง ร่างกายของเราผ่านการเปลี่ยนแปลงมากมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ผู้ใหญ่วัยต้น – ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี การวิจัยพบว่า นักกีฬาส่วนใหญ่มีขีดความสามารถทางร่างกายสูงสุด การศึกษาบรรดาผู้ชนะเลิศ (Champion) เท่านั้น พบว่า นักว่ายน้ำโอลิมปิค มีอายุเพียง 20 ปี, นักวิ่งโอลิมปิคมีอายุ 25 ปี, นักกีฬาเทนนิสมีอายุ 25 ปี, และนักกีฬาเบสบอล (Baseball) มีอายุ 27 ปี เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบภูมิคุ้มกัน, ประสาทสัมผัส (Sense), การสนองตอบ (Response) ทางสรีระ, และทักษะทางจิตใจ (Mental skills) ล้วนมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • ผู้ใหญ่วัยกลาง – ในช่วงอายุ 30 – 49 ปี เรามักจะมีน้ำหนักเพิ่ม ส่วนใหญ่เนื่องจากเรามีความกระฉับกระเฉงน้อยลง, มีการสนองตอบทางสรีระที่ลดลง, รวมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ, ขีดความสามารถของปอด (Lung capacity), ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ (Muscle), การทำงานของไต (Kidney function), และสายตา (Eyesight) เป็นต้น
  • ผู้ใหญ่วัยปลาย – ในช่วงอายุ 50 – 69 ปี เราอาจพบเห็นการค่อยๆ ลดลงของส่วนสูง เนื่องจากการสูญเสียของมวลกระดูก, ผลผลิต (Output) ที่ลดลงของปอดและไต, การเพิ่มขึ้นของรอยเหี่ยวย่นที่ผิวหนัง, และการเสื่อมสภาพ (Deterioration) ของข้อกระดูก (Joint) ส่วนอวัยวะสัมผัส (Sensory organs) ก็เริ่มสนองตอบช้าลง ส่งผลให้เกิดการลดน้อยถอยลงของความคมชัดในการมองเห็น (Acute vision), การได้ยิน, และการลิ้มรส หัวใจเองซึ่งเป็นกล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง ก็เริ่มลดประสิทธิผลในการสูบโลหิต อันส่งผลให้ลดการหมุนเวียนของโลหิตลง 35% ในหลอดเลือดใหญ่ (Coronary arteries) นอกจากนี้ยังมีการลดลงทั้งในปริมาณและเส้นผ่าศูนย์กลาง (Diameter) ของเส้นใย (Fiber) กล้ามเนื้อ ซึ่งช่วยอธิบายการทำงานที่ชะลอลงของการเคลื่อนไหว (Motor) อันมาพร้อมกับชราภาพ

แหล่งข้อมูล:

  1. Old age - http://en.wikipedia.org/wiki/Old_age [2021, October 12].
  2. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
  3. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.