จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 335 : วิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพ 2
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 15 กันยายน 2564
- Tweet
งานวิจัยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังสรุปว่า การปฏิบัติตามกฎ 5 ข้อ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งได้ 65% และจากการเป็นโรคหัวใจได้ 82% ซึ่งน่าจะปกป้องร่างกายจากโรคหลอดเลือดในสมองตีบตันด้วย
กฎเหล็กในข้อ 4 และ 5 อาจไม่เกี่ยวข้องกับบริบทในสังคมไทยมากนัก ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ จึงเสนอ กฎการนอนคืนละ 7 ถึง 8 ชั่วโมงมาทดแทน รวมเป็นกฎเหล็ก 4 ข้อ เพื่อวิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพ ในบริบทสังคมไทย จุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิตให้ “แก่ยาก แต่ตายเร็ว” (Compression of morbidity)
สรุปผลคือการทำให้ช่วงชีวิตที่ร่างกายป่วยและอยู่ในวาระสุดท้าย (Terminal) ของชีวิต เป็นช่วงเวลาที่สั้นที่สุด แต่ทำให้ช่วงเวลาที่สุขภาพดี ยืนยาวมากที่สุด
จากประสบการณ์และข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เชื่อว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนดูแลสุขภาพอย่างครบถ้วน และจริงจังตั้งแต่อายุ 40 ปีเป็นอย่างช้า
เมื่ออายุถึง 40 ปี ร่างกายจะแก่ตัวลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับตอนอายุ 30 ปี งานวิจัยพบว่า สารก่อตัวในสมอง (Amyloid beta) อันจะนำไปสู่การเป็นโรคอัลไซเมอร์ส นั้น จะเริ่มสะสมตัวเมื่ออายุ 40 ปี เป็นต้นไป แต่จะไม่มีอาการจนกระทั่ง 65 ปี หรือมากกว่านั้น โรคอัลไซเมอร์ส ทำให้จิตวิญญาณของคนเราสูญสิ้นไปก่อนที่ร่างกายจะสิ้นชีวิตไปเสียอีก
การวางแผนสุขภาพชีวิต มีทางเลือกหลักๆ 2 ทางเลือก ทางแรกน่าจะเรียกว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ข้อสมมุติฐานของทางเลือกนี้ ก็คือ เราจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นได้ทุกโรคอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก จึงต้องเพิ่มทรัพยากรให้ประเทศมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับการรักษาทุกโรค
การเพิ่มทรัพยากรดังกล่าวได้แก่ การเพิ่มอาคารโรงพยาบาล, เพิ่มอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์, และเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์, พยาบาล, เภสัชกร, นักเทคนิคการแพทย์, นักรังสีเทคนิค เป็นต้น) เพื่อให้เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของผู้สูงวัยซึ่งจะเพิ่มจากปัจจุบัน 12 ล้านคน เป็น 21 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2040
ทางเลือกที่ 2 คือ “ไม่ต้องการเป็นสักโรค” ความรู้เรื่องสุขภาพได้พัฒนาไปไกลมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาก ทำให้มีความมั่นใจสูงว่า ชราภาพโดยปราศจากโรคภัยทั้งปวงนั้นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะข้อมูลที่ว่า หากออกกำลังกายโดยการวิ่งสม่ำเสมอ ก็มีความเป็นไปได้ว่า จะสามารถเดินได้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต มีผู้สูงวัยหลายคนวิ่งและปั่นจักรยานได้ตอนอายุเกือบ 100 ปี
การดูแลสุขภาพที่ดี นอกจากจะมีความสุขและคุณภาพที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล ถ้าพลเมืองของประเทศมีสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลในอุดมคติ ก็จะกลายเป็นสถานที่ที่แพทย์ต้องมาคอยคนไข้ แทนที่คนไข้ต้องคอยแพทย์นับเป็นชั่วโมงๆ
แหล่งข้อมูล:
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
- Yanping Li, et al. (2018). Impact of Healthy Lifestyle Factors on Life Expectancies in the US Population. Circulation. V. 138 (4), pp. 345 – 355, July 2018.