จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 334 : วิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพ 1

จิตวิทยาผู้สูงวัย-334

      

จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 334 : วิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพ 1

งานวิจัยของทีมงานจาก Harvard University แล้วตีพิมพ์ใน ปี ค.ศ. 2018 เกิดขึ้นจากการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมประเทศตนเอง ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก และมีค่าใช้จ่ายต่อประชากรสูงที่สุดในโลก (9,402 ดอลล่าร์ต่อคนในปี ค.ศ. 2014) กลับเป็นประเทศที่มีประชากรอายุยืนตกต่ำลงถึงอันดับที่ 31 ของโลก โดยต่ำกว่าทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว

นักวิจัยตั้งคำถามว่า คนอเมริกันควรจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (Life-style) อย่างไร จึงจะมีอายุยืนและสุขภาพดี เนื่องจากปัญหาหลักมิได้อยู่ที่จำนวนเงินและเทคโนโลยีที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ (Health-care) นักวิจัยนำเอาพฤติกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตได้มาวิเคราะห์ดูว่า จะช่วยให้อายุยืน โดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บได้หรือไม่

นักวิจัยได้เลือกพฤติกรรม 5 อย่างมาพิจารณา อันได้แก่ (1) การกินอาหารที่เป็นประโยชน์ (2) การออกกำลังกายเป็นประจำ (3) การควบคุมน้ำหนักตัว (4) การดื่มแอลกอฮอล์อย่างจำกัด และ (5) การห้ามสูบบุหรี่ โดยได้ข้อมูลมหาศาลจากแบบสอบถามจากบุคลากรสาธารณสุข ทั่วประเทศ (National Health Survey) ซึ่งประกอบด้วย

  • ข้อมูลผู้หญิง จากฐานข้อมูลของพยาบาล (Nurses’ Health Study, 1980 – 2014) จำนวน 78,865 คน อายุเฉลี่ย 46 – 47 ปี
  • ข้อมูลผู้ชาย จากฐานข้อมูลนักวิชาชีพสุขภาพ (Health Professionals Follow-up Study, 1986 – 2014) จำนวน 44,354 คน อายุเฉลี่ย 53 – 55 ปี
  • ในช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล 34 ปีนั้น มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 42,467 คน

วิถีชีวิตตามกฎเหล็ก 5 ข้อ ของงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็คือ

1. กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (ไม่มันมาก หรือหวานมากเกินไป)

2. ออกกำลังกาย 30 นาที (หรือมากกว่านั้นทุกวัน)

3. อย่าอ้วนเกิน (ดัชนีมวลกาย [BMI] อยู่ระหว่าง 18.5 – 24.9)

4. ดื่มไวน์ไม่เกินวันละ 1 แก้วสำหรับผู้หญิง และไม่เกินวันละ 2 แก้วสำหรับผู้ชาย

5. ห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด

สรุปผลว่า ผู้ชายอายุ 50 ปี จะมีอายุยืนต่อไปอีก 25.5 ปี หากไม่ปฏิบัติตามกฎ 5 ข้อ หรือ จะมีอายุยืนต่อไปอีก 37.6 ปี หากปฏิบัติตามกฎ 5 ข้อ ส่วนต่างคือ 12.1 ปี กล่าวคือกฎ 5 ข้อทำให้ผู้ชายอายุยืนถึง 87.6 ปี ส่วนผู้หญิงอายุ 50 ปี จะมีอายุยืนต่อไปอีก 29.0 ปี หากไม่ปฏิบัติตามกฎ 5 ข้อ แต่จะมีอายุยืนต่อไปอีก 43.1 ปี หากปฏิบัติตามกฎ 5 ข้อ ส่วนต่างคือ 14.1 ปี กล่าวคือกฎ 5 ข้อทำให้อายุยืนถึง 93.1 ปี

แหล่งข้อมูล:

  1. ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
  2. Yanping Li, et al. (2018). Impact of Healthy Lifestyle Factors on Life Expectancies in the US Population. Circulation. V. 138 (4), pp. 345 – 355, July 2018.