จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 333 : แนวทางชะลอวัย 2
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 1 กันยายน 2564
- Tweet
- การศึกษา Physicians’ Health Study II1 ใน ปี ค.ศ. 2000 จำนวนกว่า 15,000 คน ในบรรดาแพทย์อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ที่กินวิตามิน E หรือวิตามิน C สรุปว่า การกินวิตามินดังกล่าว มิได้ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรค หรือเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจวาย, หลอดเลือดสมองตีบตัน, โรคมะเร็ง, หรือต้อกระจกที่ดวงตา แต่กลับพบว่า คนที่กินวิตามิน E มีความเสี่ยงจะเกิดอาการหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) เพิ่มขึ้น
- การศึกษา Women’s Antioxidant Cardiovascular Study2 ในปี ค.ศ. 2004 ในสตรีจำนวนกว่า 8,000 คน อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจ แต่ได้กินวิตามิน C, วิตามิน E, หรือ เบต้า แคโรทีน (Beta carotene) สรุปว่า กลุ่มคนที่กินสารต้านอนุมูลอิสระดังกล่าว มิได้มีความเสี่ยงจากการเกิดหัวใจวาย (Heart attack) และหลอดเลือดในสมองตีบตัน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มิได้กินอาหารเสริมดังกล่าว ส่วนการเป็นโรคมะเร็ง หรือโรคเบาหวานได้ลดลง สำหรับผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป การกินอาหารเสริมดังกล่าวมิได้ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อม
- การศึกษา Selenium and Vitamin E Cancer Prevention Trial3 ในปี ค.ศ. 2008 ในบรรดาชายอายุ 50 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 35,000 คน สรุปว่า การกินซี Selenium และ/หรือ วิตามิน E มิได้ป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่กลับพบในการวิเคราะห์ข้อมูลอีกครั้งใน ปี ค.ศ. 2011 ว่า กลุ่มคนที่กินวิตามิน E มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมายสูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่กินอาหารเสริมถึง 17% แต่ความเสี่ยงมิได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงในกลุ่มคนที่กินทั้งวิตามิน E และ Selenium
- การศึกษา Age-related Eye Disease Study4 ในปี ค.ศ. 2001 ในบรรดาชาย-หญิง 4,757 คน อายุระหว่าง 55 ถึง 80 ปี ซึ่งกินวิตามิน C, วินตามิน E, Beta carotene และสังกะสี (Zinc) สรุปว่า อาหารเสริมดังกล่าว สามารถลดความเสี่ยงที่จอประสาทตาจะเสื่อมถอยลง เมื่อสูงวัยได้มากถึง 25% การกินวิตามิน 3 ตัวแรก โดยไม่กินสังกะสีด้วย จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ 17% แต่มิได้ช่วยลดการเป็นต้อกระจกแต่อย่างใด และในการวิจัยอีกครั้งในปี ค.ศ. 2006 ได้เพิ่ม โอเมก้า (Omega) 3 เข้าไปด้วย แต่ผลลัพธ์ก็มิได้ดีขึ้น แต่เมื่อลองนำลูทีน (Lutein) และ ซีแซนทิน (Zeaxanthin) มาทดแทน Beta carotene กลับได้ผลดีตามคาด
มีประจักษ์หลักฐานชัดเจนว่า ผักและผลไม้อุดมด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ อันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ หากกินเป็นประจำ ร่างกายจะแข็งแรงและมีอายุยืนกว่าคนที่กินทั้งสองประเภทแต่ในปริมาณต่ำ ส่วนอาหารเสริมที่อ้างสรรพคุณเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระนั้น งานวิจัยหลายชิ้น ไม่พบประโยชน์ดังที่คาดการณ์ไว้
แหล่งข้อมูล:
- Christen, W. G., et al. (2000). Design of Physicians’ Health Study II Journal of the National Cancer Institute. V. 10 (2), pp. 125 – 134, February 2000.
- Jenifer Lin, et al. (2009). Vitamins C and E and Beta Carotene Supplementation and Cancer Risk: A Randomized Controlled Trial. Journal of the National Cancer Institute. V. 101 (1), pp. 14 – 23, January 2009.
- Eric A. Klein, et at. (2011). Vitamin E and the Risk of Prostate Cancer: The Selenium and Vitamin E Cancer Prevention Trial (SELECT). JAMA. V 306 pp. 1549 – 1556, October 2011.
- Emily Y. Chew, et al. (2001). The Age-related Eye Disease 2 (AREDS2): Study Design and Baseline Characteristics. AREDS2 Report No. 1. Ophthalmology. V. 119 (11), pp. 2282 – 9, November 2001