จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 330 : การวิ่งในผู้สูงวัย 5
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 11 สิงหาคม 2564
- Tweet
ข้อสรุปต่อไปนี้เป็นจริงสำหรับทุกผู้ทุกวัย ไม่ว่าจะเริ่มวิ่งเมื่ออายุมากแล้ว หรือยังอายุน้อย โดยสัดส่วนของคนที่แจ้งว่าเจ็บเข่าบ่อยครั้ง มีดังนี้
คนไม่วิ่งเลย 41.1%
คนวิ่งน้อย 34.9%
คนวิ่งปานกลาง 39.2%
คนวิ่งมาก 31.3%
นอกจากนี้ คนที่บอกว่า ยังวิ่งอยู่ต่อเนื่อง แล้วมีปัญหาเจ็บเข่าน้อยที่สุด คือ 21.1% เปรียบเทียบกับคนที่หยุดวิ่ง 25.3%
เรามักจะได้ยินหลายคนบ่นว่า วิ่งแล้วเจ็บหัวเข่า แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า น่าจะเกิดจากการวิ่งผิดจังหวะและผิดท่า โดยเฉพาะการลงด้วยส้นเท้าเวลาวิ่ง เหมือนกับเวลาเดิน ซึ่งจะส่งแรงกระแทกขึ้นจากเส้นเท้าถึงหัวเข่าและต้นขา อันที่จริง ต้องลงเท้าส่วนที่กว้างที่สุดของหน้าเท้า จึงจะถูกต้อง
นอกจากนี้อาจขึ้นอยู่กับรองเท้าที่สวมใส่เพื่อการวิ่งโดยเฉพาะ ซึ่งควรเป็นรองเท้าที่มีคุณภาพดี, น้ำหนักเบา, และใหญ่กว่าปรกติ เพราะเวลาวิ่ง เท้าจะขยายตัว
อีกเรื่องหนึ่งที่คนกลัวกัน คือการวิ่งที่ทำให้เจ็บหลัง โดยเฉพาะส่วนเอว (Lower back) เพราะมีหมอนรองกระดูกสันหลังอยู่ การวิ่งจะกระแทกทั้งกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลัง จึงน่าจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมลงได้ โดยเฉพาะการทำให้หมอนรองกระดูกทรุดตัวหรือปลิ้นตัวได้
แต่ไม่มีงานวิจัยในเรื่องนี้ คงเป็นเพราะได้มีการพิสูจน์แล้วว่า การวิ่งมิได้เป็นสาเหตุ หรือเพิ่มความเสี่ยงของการเจ็บหลัง แต่ถ้ามีปัญหาปวดหลังอยู่แล้ว (อันอาจจะเกิดจากน้ำหนักอ้วนเกิน, กระดูกสันหลังคด, หรือบาดเจ็บจาการเล่นกีฬาอื่นมาก่อน) การวิ่งจะไม่ช่วยรักษาโรคปวดหลัง และอาจทำให้อาการเลวร้ายลงไปอีก ดังนั้น จึงต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
งานวิจัยของวิทยาลัยซันเด้อร์แลนด์โพลีเทคนิค (Sunderland Polytechnic College) ในอังกฤษ ปี ค.ศ. 1990 โดยศึกษานักวิ่งมาราธอน (Marathon) และคนที่ไม่เคยวิ่งเลย แสดงผลว่า ในบรรดานักวิ่งมาราธอนที่วิ่งต่อเนื่องกัน 30 นาที นักกีฬาที่วิ่งยิ่งเร็วมากเท่าไร ความสูงของเขา ก็จะลดลงมากเท่านั้น
กล่าวคือถ้าวิ่งเร็วเต็มที่ 100% จะเตี้ยลง 0.25 นิ้ว ซึ่งเป็นผลจากการกระแทกหมอนรองกระดูกสันหลังอย่างแรง แต่ก็เป็นการเตี้ยลงเพียงชั่วคราวเท่านั้น ที่สำคัญก็คือ การเป็นนักวิ่งหรือไม่เป็นนักวิ่ง และการวิ่งเร็วหรือช้า มิได้เป็นสาเหตุของการปวดหลังมากหรือน้อยแต่อย่างใด
แหล่งข้อมูล:
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
- Gerard Garbutt, et al. (1990). Running Speed and Spinal Shrinkage in Runners with and without Lower Back Pain. Medicine & Science in Sports & Exercise. V 22 (6), pp. 769-772, December 1990.