จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 329 : การวิ่งในผู้สูงวัย 4

จิตวิทยาผู้สูงวัย-329

      

จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 329 : การวิ่งในผู้สูงวัย 4

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology ในปี ค.ศ. 2018 รายงานผลการติดตามพัฒนาการของสมองในสตรีชาวสวีเดนจำนวน 191 คน (ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 50 ปี ตอนเริ่มงานวิจัย) ยาวนานถึง 44 ปี แล้วพบว่า สตรีที่แข็งแรงมาก (Highly fit) มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมเพียง 5% ส่วนสตรีที่แข็งแรงปานกลาง มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม 32% และสตรีที่แข็งแรงน้อย จะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมถึง 45%

นักวิจัยสรุปว่า สตรีที่แข็งแรงมาก หากเป็นโรคสมองเสื่อม จะเป็นตอนอายุ 90 ปี ช้ากว่าสตรีที่แข็งแรงปานกลางถึง 11 ปี ซึ่งเริ่มจะเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่ออายุ 79 ปี ส่วนคนปรกติ จะเริ่มเป็นโรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ส (Alzheimer’s) เมื่ออายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารโรคอัลไซเมอร์ส (Journal of Alzheimer’s Disease) ในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งติดตามชาย-หญิง 153,000 คนที่ออกกำลังกายโดยการเดินและวิ่งเป็นเวลา 12 ปี พบว่าโรคอัลไซเมอร์สเป็นสาเหตุให้ผู้เสียชีวิตจำนวน 175 คน โดยมีผลสรุป ดังนี้

  • คนที่วิ่งมากกว่าสัปดาห์ละ 24 กิโลเมตร มีความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคอัลไซเมอร์ส ลดลงมากถึง 40%
  • คนที่วิ่งสัปดาห์ละ 12 ถึง 25 กิโลเมตร มีความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคอัลไซเมอร์ส ลดลงมากถึง 25% ทั้งนี้ หากต้องการจะเดินแทนการวิ่ง ต้องเดินโดยใช้เวลาเป็น 2 เท่าของคนที่วิ่งสัปดาห์ละ 12 ถึง 25 กิโลเมตร
  • การกินยาสแตติน (Statin) เพื่อลดคอลเลสเตอรอล (Cholesterol) ช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคอัลไซเมอร์ส ลงถึง 60% ซึ่งเท่ากับผลของการกินแอปเปิ้ลวันละ 3 ครั้ง (Serving)

ผู้ที่กลัวการวิ่ง มักมี 2 เหตุผล คือ (1) กลัวหัวเข่าเจ็บหรือสึกกร่อน และ (2) กลัวเจ็บหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังทรุด แต่จากการค้นหาข้อมูลสถิติเชิงวิชาการของ ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ไม่พบประจักษ์หลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า การวิ่งทำให้ผู้วิ่งเสี่ยงต่อการเจ็บหัวเข่าหรือเจ็บหลัง

แต่ตรงกันข้าม มีหลักฐานจากงานวิจัยด้วยซ้ำว่า การวิ่งจะทำให้หัวเข่าและกระดูกสันหลัง รวมทั้งหมอนรองกระดูกสันหลังแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บหัวเข่าและการเจ็บหลังในวัยชรา

การศึกษาโดย Osteoarthritis Initiative ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health) และบริษัทยาชั้นนำ ในสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2017 ได้ใช้เวลา 8 ปี ในการเก็บข้อมูลและติดตามผลจากผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 2,637 คน โดยอายุเฉลี่ย 64 ปี เป็นหญิง 56% และชาย 44% โดยที่ 778 คนออกกำลังด้วยการวิ่งเป็นครั้งคราว บทสรุปก็คือ คนที่วิ่งเป็นครั้งคราว มิได้มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่หัวเข่า แต่คนที่ยิ่งวิ่งมาก ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการปวดหัวเข่าน้อยลง

แหล่งข้อมูล:

  1. ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
  2. Kathleen Dohe¬ny (2014). Study Links Running to Lower Alzheimer’s Death Risk, Higher Fruit Intake, Cholesterol-lowering Drugs Also Associated with Reduced Risk. Health Day, last modified December 4, 20014.
  3. Grace H. Lo, et al. (2017). History of Running Is Not Associated with Higher Risk of Symptomatic Knee Osteoarthritis: A Cross-sectional Study from the Osteoarthritis Initiative. Arthritis Care & Research. V. 69 (2), pp, 183 – 189, February 2017.