จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 328 : การวิ่งในผู้สูงวัย 3
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 28 กรกฎาคม 2564
- Tweet
ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคสมองเสื่อม (40% เป็นค่ายา) และค่าดูแลผู้ป่วย (อีก 60% เป็นภาระของลูกหลาน หรือของรัฐในประเทศที่มีสวัสดิการ) รวมทั้งสิ้น อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 30 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 1.25% ของรายได้ประชาชาติของโลก ซึ่งเป็นภาระทางการเงินที่หนักอึ้ง สำหรับระบบสาธารณสุขของประเทศ
งานวิจัยพบว่า ผู้ที่สมองเริ่มมีปัญหา จะเดินช้าลง คนที่เดินโดยความเร็วชั่วโมงละ 3 กิโลเมตร หรือต่ำกว่านั้น เริ่มมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม ผู้คนส่วนใหญ่จะเดินได้ชั่วโมงละ 5 ถึง 6 กิโลเมตร การประเมินความเสี่ยง จะทำได้ง่าย เพียงเดินแล้ว ลองใช้สมองคิดอะไรง่ายๆ ไปด้วย อาทิ นับถอยหลัง หรือบวกเลขไปด้วย
ตามปรกติ คนเราจะสามารถเดินไปด้วยและคิดไปด้วย โดยใช้ความเร็วเท่าเดิม แต่สำหรับคนที่เริ่มมีปัญหาโรคสมองเสื่อม จะเดินช้าลง 25% หากต้องเดินไปและใช้สมองไปพร้อมกัน อันที่จริง การเดินหรือวิ่งนั้น เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมองประสานงานกับหลายส่วนของร่างกาย เพื่อการเคลื่อนที่และเปลี่ยนทิศทาง รวมทั้งหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่ดักขวางอยู่ข้างหน้า และรักษาความสมดุลของร่างกายมิให้ล้มลง
ในการป้องกันโรคสมองเสื่อม คำแนะนำอันดับแรกในการออกกำลังกาย มักจะให้เดินเร็ว สัปดาห์ละ 3 ถึง 4 ครั้ง เป็นเวลาสัปดาห์ละ 180 ถึง 240 นาที โดยให้มีความเร็วชั่วโมงละ 6 กิโลเมตร (การเดินปรกติจะได้ชั่วโมงละ 4 กิโลเมตร) เพื่อให้หัวใจเต้นเร็ว 60% ของการเต้นที่เร็วสุดของหัวใจ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์ก (University of Pittsburgh) ในปี ค.ศ. 2018 แสดงว่า การที่หลอดเลือดใหญ่ (Aorta) แข็งตัวและตีบตันจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอ น่าจะเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสื่อมถอยของสมอง แล้วนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ส (Alzheimer’s) ในที่สุด โดยที่ 80% มักเป็นโรคหัวใจด้วย
เดิมทีเราเชื่อกันว่า เซลล์ในสมองจะค่อยๆ ตายไป ทำให้เซลล์ลดจำนวนลงเรื่อยๆ ตามอายุขัยที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่งานวิจัยชิ้นล่าสุด แสดงว่า สมองคนเรามิได้ค่อยๆ เสื่อมถอยลง แต่สามารถฟื้นฟูและปรับตัวเองได้ (Neuro-plasticity) แล้วยังผลิตเซลล์สมองเพิ่มเติมขึ้นได้อีกด้วย (Neuro-genesis)
โปรตีนมีส่วนสำคัญมากในกระบวนการฟื้นฟูสมองและเพิ่มเซลล์สมอง (Brain-derived, neuro-trophic factor : BDNF) และยังมีข้อสรุปทางวิชาการว่า ความผิดปรกติเกือบทุกประเภทขของสมองนั้น เกิดจากการมีระดับ BDNF ต่ำ จนประสบปัญหาชราภาพเร็ว และภาวะอ้วนเกินอีกด้วย
เราสามารถกระตุ้นให้ BDNF สูงขึ้น โดยการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว (Aerobics) เท่ากับ 60 ถึง 75% ของอัตราการเต้นเร็วสุด เมื่อหลอดเลือดในร่างกายแข็งแรง สมองก็จะแข็งแรงพร้อมกันไปด้วย
แหล่งข้อมูล:
- Jennifer Bieman, (2018). Study Probes Possibility of Walking-Talking Test to Predict Dementia. The London Free Press. Last modified September 19, 2018.
- University of Pittsburgh School of Health Sciences (2018). Modifiable Dementia Risk Factor in Older Adults Identified. ScienceDaily, October 16, 2018.
- Karsten Mueller, et al. (2015). Physical Exercise in Overweight to Obese Individuals Induces Metabolic- and Neurotrhphic-related Structural rain Plasticity. Frontiers in Human Neuroscience. V. 9 (372), July 2015.