จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 327: การวิ่งในผู้สูงวัย 2
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 21 กรกฎาคม 2564
- Tweet
ในปี ค.ศ. 2017 ดร. ดุค-ชุล ลี (Dr. Duck-Chul Lee) และทีมงานวิจัย แห่งมหาวิทยาลัยไอโอว่าสเตท (Iowa State University) ได้วิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมจากกลุ่มตัวอย่างเดิม 55,137 คน สรุปว่า
- การวิ่ง 1 ชั่วโมงทำให้อายุยืนขึ้น 7 ชั่วโมง แต่ประโยชน์จากการวิ่งจะจำกัดอยู่ที่สัปดาห์ละ 4.5 ชั่วโมง การวิ่งเกินกว่านี้ มิได้ช่วยทำให้อายุยืนขึ้น แต่ก็มิได้ทำให้อายุสั้นลง
- การออกกำลังกายประเภทอื่นๆ อาทิ การเดินและการปั่นจักรยานนั้น ให้ประโยชน์ในแง่ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตลง 12% แต่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ ระหว่าง 25 ถึง 40% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้วิ่ง
- การที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตสูงถึง 16% ทำให้ทีมงานผู้วิจัยเสนอแนะให้วัดความสมบูรณ์ดังกล่าว ในการตรวจสุขภาพประจำปี ด้วยหน่วยพลังงานที่ใช้ในขณะนั่งเฉยๆ (Metabolic Equivalents : METs)
งานวิจัยในประเทศเดนมาร์ก ในปี 2015 ได้ติดตามการดำรงชีวิตของคนสุขภาพดีที่เป็นนักวิ่ง 1,098 คน และคนสุขภาพที่ไม่ออกกำลังกาย 3,950 คน ในช่วงเวลา 12 ปี สรุปได้ว่า
- การวิ่งที่ให้ประโยชน์สูงสุด คือการวิ่งเพียงครั้งละ 1 ถึง 2.4 ชั่วโมง โดยไม่ต้องวิ่งเร็ว และวิ่งเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง (ซึ่งจะได้ระยะทางสัปดาห์ละ 8 ถึง 20 กิโลเมตร) จะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้ 30% ซึ่งเทียบเท่ากับการมีอายุยืนยาวขึ้นถึง 6 ปี
- กลุ่มที่วิ่งอย่างหนักหน่วง (Strenuous joggers) ซึ่งวิ่งได้เร็วกว่าชั่วโมงละ 11 กิโลเมต หรือวิ่งได้มากกว่าสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง หรือได้ระยะทางกว่าสัปดาห์ละ 45 กิโลเมตร ต่างมิได้ประโยชน์สูงสุด เพราะอัตราการเสียชีวิตมิได้แตกต่างจากคนที่ไม่วิ่งเลย
โรคที่น่ากลัวมากที่สุดของผู้สูงวัย คือโรคสมองเสื่อม (Dementia) โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ส (Alzheimer’s) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษา ยักษ์ใหญ่บริษัทยาหลายรายพยายามค้นคว้าหายารักษาโรคอัลไซเมอร์ส แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ จนบางรายต้องล้มเลิกการค้นคว้าไป
ตามปรกติ ผู้คนส่วนมากจะเริ่มมีอาการสมองเสื่อมในเบื้องต้น (Mild cognitive impairment : MCI) เมื่ออายุ 65 ปีเป็นต้นไป หลังจากนั้นอาการจะวิวัฒนาไปสู่สมองเสื่อมในระยะต่อไป จากสถิติพบว่า ในปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนผู้มีสมองเสื่อมอยู่ประมาณ 50 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านคนในปี ค.ศ. 2030 และเพิ่มขึ้นเป็น 131.5 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050
ที่น่าประหลาดใจก็คือ สภาวะสมองเสื่อมนี้ จะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประเทศกำลังพัฒนา (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) มิใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (อย่างสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ)
แหล่งข้อมูล:
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
- Duck-Chul Lee, et al. (2017). Running as a Key Lifestyle Medicine for Longevity. Progress in Cardiovascular Diseases. V. 60 (1), pp. 45 - 55, July – August 2017.
- Peter Schnohr, et al. (2015). Dose of Jogging and Long-term Mortality: The Copenhagen City Heart Study. Journal of the American College of Cardiology. V. 65 (5), pp. 411 – 419, February 2015.