จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 326 : การวิ่งในผู้สูงวัย 1

จิตวิทยาผู้สูงวัย-326

      

จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 326 : การวิ่งในผู้สูงวัย 1

ผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อย มักกลัวการออกไปวิ่ง เพราะเข้าใจว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการปวดข้อ, ปวดเข่า, และเจ็บหลัง และหากบาดเจ็บขึ้นมา ก็อาจทำให้พิการจนชีวิตต้องลำบากขึ้นมาก ซึ่งก็เป็นแนวความคิดของผู้เชี่ยวชาญส่วนมากในปี ค.ศ. 1984 ทำให้นายแพทย์เจอมส์ ฟรายส์ (James Fries, M.D.) แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ได้ริเริ่มงานวิจัยในเรื่องการวิ่งของผู้สูงวัย

เขาคัดเลือกชาย-หญิง อายุมากกว่า 50 ปี จำนวน 538 คน แล้วติดตามการดำเนินชีวิตของกลุ่ม เปรียบเทียบกับกลุ่มพนักงานของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในจำนวนเท่ากัน เป็นเวลา 20 ปี แล้วได้ผลสรุปดังนี้

  • ในบรรดาผู้ไม่วิ่งนั้น เสียชีวิตไป 34% แต่ในบรรดาผู้วิ่งนั้น เสียชีวิตไปเพียง 15%
  • ในบรรดาผู้วิ่งนั้น ได้ลดการวิ่งลงจากสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง (หรือปีละ 1,000 กิโลเมตร) เหลือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 70 นาที คนในกลุ่มนี้ บางคนอายุใกล้หรือเกิน 90 ปีแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงพดที่จะวิ่งได้อยู่
  • การติดตามดูสุขภาพทั้ง 2 กลุ่ม หลัง 20 ปี พบว่า ร่างกายเสื่อมถอยลงทั้ง 2 กลุ่ม แต่คนที่ยังคงวิ่งอยู่นั้น ร่างกายเริ่มพิการหลังคนที่ไม่วิ่งอยู่ถึง 16 ปี
  • กลุ่มนักวิ่งมิได้บาดเจ็บหรือเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม (Osteo-arthritis) มากกว่าคนที่ไม่วิ่งแต่อย่างใด และกลุ่มนักวิ่งก็มิได้ต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่ามากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้วิ่ง
  • เมื่อร่างกายเริ่มเสื่อมถอย คนที่ไม่วิ่งจะเสื่อมสภาพเร็วกกว่าร่างกายของคนที่วิ่ง หรือสรุปได้ว่า นักวิ่งนั้นมีอายุยืนกว่า และสุขภาพแข็งแรงกว่าในบั้นปลายของชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่วิ่ง

ดังนั้น การวิ่งเป็นประจำได้ผลดีมากเกินกว่านักวิจัยได้คาดไว้ด้วยซ้ำ จึงควรเลิกความเชื่อที่ว่า การวิ่งมิใช่กิจกรรมของผู้สูงวัย

ในปี ค.ศ. 2014 ทีมงานวิจัยนำโดย ดร. ดุค-ชุล ลี (Dr. Duck-Chul Lee) แห่งมหาวิทยาลัยไอโอว่าสเตท (Iowa State University) ได้รายงานผลที่ติดตามชาวอเมริกัน 55,137 คน ที่มีอายุ 18 ถึง 100 ปี (เฉลี่ยอายุ 44 ปี) เป็นเวลา 15 ปี โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 3,413 คน และในจำนวนนี้ เป็นผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจวาย 1,217 คน มีผลสรุปอื่นๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

  • 24% ของกลุ่มทดลอง ออกกำลังกายโดยการวิ่ง
  • ในกลุ่มคนที่วิ่งนั้น มีอัตราเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มคนที่ไม่วิ่งถึง 30%
  • ในกลุ่มคนที่วิ่งนั้น มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจวาย น้อยกว่ากลุ่มคนที่ไม่วิ่งถึง 45%
  • ในกลุ่มคนที่วิ่งนั้น อายุยืนกว่ากลุ่มคนที่ไม่วิ่งถึง 3 ปี โดยวิ่งเพียงสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะได้ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร

แหล่งข้อมูล:

  1. ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
  2. Eliza F. Chakravarty, et al. (2008). Reduced Disability and Mortality Among Aging Runners: A 21-Year Longitudinal Study. Archives of Internal Medicine, V. 168 (15), pp. 1638 – 1646, August 2008.
  3. Duck-Chul Lee, et al. (2014). Leisure-time Running Reduces All-cause and Cardiovascular Mortality Risk. Journal of the American College of Cardiology. V. 64 (5), pp. 472-481, August 2014.