จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 325 : นอนหลับกับโรคภัย 4

จิตวิทยาผู้สูงวัย-325

      

จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 325 : นอนหลับกับโรคภัย 4

การทดลองยังพบอีกว่า เมื่อนำคนที่น้ำหนักเกินมาลดน้ำหนัก กลุ่มคนที่นอนน้อย (คืนละ 5.5 ชั่วโมง) น้ำหนักลดลง โดยสูญเสียกล้ามเนื้อ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของน้ำหนักที่ลดลงทั้งหมด แต่กลุ่มคนที่นอนหลับปรกติ (คืนละ 8.5 ชั่วโมง) น้ำหนักลดลง โดยกำจัดไขมัน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของน้ำหนักที่ลดลงทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลสนับสนุนในเชิงวิจัยมากมายว่า การนอนไม่เพียงพอ มีผลทำให้หย่อนสมรรถภาพทางเพศ และลดภูมิต้านทานลง อันนี้เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า หากนอนหลับไม่เพียงพอ ร่างกายย่อมไม่แข็งแรง

ปี ค.ศ. 2019 มีรายงานผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโรเชสเต้อร์ (University of Rochester) และมหาวิทยาลัยโคเป็นเฮเก้น (University of Copenhagen) ซึ่งค้นพบหลักฐานว่า การนอนหลับแบบไม่ฝัน (Deep non-REM sleep) เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกระบวนการชำระล้างสมอง (Glymphatic) ให้คืนสภาพเป็นปกติ

ผู้ค้นพบกระบวนการนี้คือ ศาสตราจารย์ไมเค่น เนเดอร์การ์ด (Maiken Nedergaard) ก่อนหน้านี้ไม่มีใครทราบว่าสมองมีระบบชำระล้างตัวเองอย่างไร แต่มาวันนี้เราทราบแล้วว่ากระบวนของสมองในการดูแลตัวเองนั้นคล้ายกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อาทิ ตับและไต ซึ่งทำหน้าที่ชำระล้างส่วนที่เป็นพิษให้ออกไปจากร่างกาย

ในระหว่างวัน คนเรามีกิจกรรมมากมาย ทำให้เกิดขยะมูลฝอยที่วนเวียนอยู่ในสมอง แต่พอตกกลางคืนระหว่างนอนหลับ ร่างกายก็จะทำหน้าที่ชำระล้าง แล้วนำเอาขยะมูลฝอยต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันออกไปจากสมองให้หมดสิ้น สรุปดังนี้

  • สมองจะอาศัยหลอดเลือด (blood vessels) ดึงเอาน้ำที่หลั่งออกมาจากกระดูกสันหลัง (Cerebral spinal fluid: CSF) เข้าไปชำระล้างขยะมูลฝอยในสมองออกไปให้หมด เช่นเดียวกับการฉีดน้ำแรงๆ เพื่อล้างรถยนต์
  • กระบวนการดังกล่าว ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงของการนอนหลับลึก (Deep non-REM sleep) ซึ่งสมองจะหดตัวลงไป 60% ทำให้เกิดช่องว่างเพื่อการชำระล้างได้อย่างหมดจดและทั่วถึง โดยน้ำ CSF จะชำระล้างสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสมองคือ หินปูน (Plaque) และโปรตีนเทา (Tau protein) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเป็นโรคสมองเสื่อมโดยเฉพาะอัลไซเม่อร์ส (Alzheimer’s)
  • งานวิจัยอื่นๆ สรุปว่า มนุษย์ควรจะนอนหลับคืนละประมาณ 7 ถึง 8 ชั่วโมงและควรจะหลับลึกคืนละ 1 ชั่วโมง 45นาทีและการนอนหลับฝันอีก 1 ชั่วโมงกับ 45 นาที ดังนั้นงานวิจัยที่กล่าวถึงข้างต้น จึงเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการนอนหลับลึกเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาสมองเสื่อมในอนาคต

การวิจัยเพิ่มเติมสรุปได้ว่า กระบวนการนี้จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ในช่วงของการนอนหลับลึกเท่านั้น แต่แทบจะไม่ทำงานเลยในช่วงเวลาที่ตื่นนอน ดังนั้น ระหว่างช่วงของการนอนหลับ น้ำ CSF ในสมองจทำหน้าที่ปัดกวาดทำความสะอาดและบูรณะตัวเองให้คงสภาพความสมบูรณ์เอาไว้ เพื่อป้องกันปัญหาสมองเสื่อมในอนาคต

แหล่งข้อมูล:

  1. ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
  2. Matthew Walker (2017). Why We Sleep: The Science of Sleep and Dreams. London: Penguin Publishing.
  3. D.C. Demetre (2019). The Glymphatic System Works Better in Deep Non-REM Sleep. Reliawire. February 2, 2019.