จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 324 : นอนหลับกับโรคภัย 3
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 30 มิถุนายน 2564
- Tweet
งานวิจัยหลายชิ้น ครอบคลุมการศึกษาหลายทวีป ล้วนให้ข้อสรุปเดียวกันว่า หลังจากเอาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (อาทิ น้ำหนักตัว, การดื่มแอลกอฮอล์หรือกาแฟ, การสูบบุหรี่, อายุ-เชื้อชาติ-เพศ) ออกไปแล้ว อัตราเกิดโรคเบาหวานสูงกว่าปรกติมาก ในบรรดาผู้ที่นอนหลับน้อยกว่าคืนละ 6 ชั่วโมง
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ได้จำกัดเวลานอนของผู้มีสุขภาพดี (กล่าวคือ ไม่มีโรคเบาหวาน) ให้เหลือเพียงคืนละ 4 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 6 คืน แล้วพบว่า ความสามารถในการขจัดน้ำตาลในเลือดลดลง (กล่าวคือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น) ถึง 40% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่นอนหลับปรกติคืนละ 7 ถึง 8 ชั่วโมง
สรุปก็คือ การอดหลับอดนอนติดต่อกันเพียง 6 คืน ก็สามารถเปลี่ยนคนที่สุขภาพดีไม่มีเบาหวาน กลายเป็นคนที่มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคเบาหวานในขั้นแรก โทษ 2 ประการของการอดหลับอดนอน ก็คือ (1) ทำให้ร่างกายปล่อยอินซูลิน (Insulin) ที่จะมาควบคุมน้ำตาลนั้น ลดลง และ (2) เซลล์ของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินลดลง กล่าวคือ ดื้ออินซูลิน ซึ่งร้ายแรงกว่าข้อ (1)
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยชิคาโก้ (University of Chicago) เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับกับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว ได้แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม โดยที่กลุ่มแรก ให้นอนพักที่โรงแรม 5 คืน และให้นอนหลับคืนละ 8.5 ชั่วโมง ส่วนกลุ่มที่สอง ให้นอนโรงแรมเดียวกัน 5 คืนเหมือนกัน แต่ให้นอนเพียงคืนละ 4 ถึง 5 ชั่วโมง
ทั้ง 2 กลุ่มมีสุขภาพดีและไม่มีภาวะน้ำหนักเกินตอนเริ่มต้น หลังจากนั้นให้กินอาหารเหมือนกันและออกกำลังกายเท่าๆ กัน ผลลัพธ์จากการทดลอง พบว่ากลุ่มคนที่นอนหลับน้อยกว่า จะมีอาการหิวโหย (Ravenous) มากกว่ากลุ่มคนที่นอนหลับมากกว่า ความหิวในกลุ่มคนที่นอนน้อยกว่า จะเพิ่มทวีขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่คืนที่ 2 ของการทดลอง เป็นต้นไป สรุปแล้ว กลุ่มคนที่นอนน้อยกว่า ไม่สามารถควบคุมการกินอาหารของตนเองได้เลย
ในอีกการทดลองหนึ่งที่คล้ายกันกับการทดลองข้างต้น สรุปผลว่า ในกลุ่มคนที่นอนน้อยกว่า (คืนละ 5 ถึง 6 ชั่วโมง) หากให้สามารถกินอาหารได้ตามใจชอบ จะกินปริมาณอาหารมากกว่ากลุ่มคนที่นอนปรกติ (คืนละ 8. 5 ชั่วโมง) มากถึงวันละ 300 แคลอรี่ (Calorie)
หากคำนวณแคลอรี่เพิ่มขึ้นใน 1 ปี โดยยอมให้มี 1 เดือนที่นอนพักผ่อนเต็มที่เหมือนกลุ่มคนปรกติ (คืนละ 8.5 ชั่วโมง) ในช่วงวันหยุดพักร้อน ผลลัพธ์ก็คือ กลุ่มคนที่นอนน้อย 11 เดือน จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นปีละ 4.5 ถึง 7 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่นอนหลับปรกติทุกคืน
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงว่า ในกลุ่มคนที่อดหลับอดนอน หรือนอนไม่เพียงพอ มักจะเลือกกินอาหารประเภทที่ทำให้เป็นภาวะอ้วนเกิน กล่าวคือ มันทอดหรือขนมปัง ซึ่งมีแป้ง (Carbo-hydrate) สูง
แหล่งข้อมูล:
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
- Matthew Walker (2017). Why We Sleep: The Science of Sleep and Dreams. London: Penguin Publishing.