จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 323 : นอนหลับกับโรคภัย 2

จิตวิทยาผู้สูงวัย-323

      

จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 323 : นอนหลับกับโรคภัย 2

ดร. แอนนี่ วอลตั้น ดอลล์ (Dr. Annie Walton Dole) สรุปจากงานวิจัยของเธอว่า การหลับฝันจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการหลับลึก หากมิได้หลับฝันอย่างเพียงพอ คนเราจะตื่นขึ้นมาโดยรู้สึกไม่สดชื่นหรือไร้ชีวิตชีวา จะรู้สึกยังง่วงเหงาหาวนอนและอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ปราศจากสมาธิในการทำงานอย่างมีคุณภาพ

มีงานวิจัยกว่า 20 ชิ้น ซึ่งเป็นการศึกษาขนาดมหึมา โดยติดตามพฤติกรรมของคนนับล้าน ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปเหมือนๆ กันว่า คนเรายิ่งนอนน้อย ยิ่งอายุสั้น และการนอนหลับไม่เพียงพอมีสหสัมพันธ์กับสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อันได้แก่ โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน, โรคสมองเสื่อม, และโรคมะเร็ง

ผลการวิจัยในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งติดตามพฤติกรรมการนอนหลับของคนกว่า 500,000 คน ใน 8 ประเทศ แสดงว่า การนอนหลับไม่เพียงพอ มีสหสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่มีโอกาสเป็นโรคหัวใจ หรือเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจถึง 45% ในช่วงเวลา 7 ถึง 25 ปี จากงานวิจัยผู้ชายชาวญี่ปุ่นจำนวน 4,000 คน ในช่วงเวลา 14 ปี แสดงผลที่น่าสนใจ ดังนี้

คนที่นอนหลับคืนละ 6 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้น มีโอกาสสูงที่เลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ จนเกิดหัวใจวาย มากกว่าคนที่นอนหลับเกินคืนละ 6 ชั่วโมง 4 ถึง 5 เท่าตัว แม้จะแยกปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ (อาทิ การสูบบุหรี่, การปราศจากการออกกำลังกาย, และน้ำหนักที่อ้วนเกิน) ออกไปแล้ว การนอนหลับยังคงมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง พบว่า ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งนอนน้อยกว่าคืนละ 6 ชั่วโมง มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบกับหัวใจวาย เนื่องจากเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (Stroke) มากกว่า 2 เท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่นอนหลับคืนละ 7 ถึง 8 ชั่วโมง โดยที่คนในวัยดังกล่าว มักมีความเครียดจากภาระงานที่หนักอึ้งขึ้นเรื่อยๆ จนนอนหลับไม่เพียงพออยู่บ่อยครั้ง

งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยชิคาโก้ (University of Chicago) ซึ่งติดตามการนอนหลับของผู้ใหญ่วัยกลาง 500 คนที่มีสุขภาพดี กล่าวคือไม่มีโรคหัวใจ แสดงว่า ในช่วงเวลา 5 ปี คนที่นอนหลับน้อย (เพียงคืนละ 5 ถึง 6 ชั่วโมง) มีโอกาสสูงที่หลอดเลือดหัวใจจะแข็งตัวจนอุดตัน (Calcification) มากกว่า 2 ถึง 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่นอนหลับคืนละ 7 ถึง 8 ชั่วโมง

แม้แต่การปรับเวลาเพียง 1 ชั่วโมงในประเทศที่พัฒนาแล้วปีละ 2 ครั้ง เพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาที่มีแสงแดดเพิ่มขึ้น (Day-light savings) ก็มีผลกระทบต่อประชากร 1,600 ล้านคน กล่าวคือในเดือนมีนาคมที่มีการหมุนเวลาให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ทำให้คนนอนน้อยลงไป 1 ชั่วโมงในคืนนั้น งานวิจัยพบว่ามีคนเป็นโรคหัวใจวาย เพิ่มขึ้น 24% ในวันรุ่งขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ในเดือนพฤศจิกายนที่มีการหมุนเวลากลับให้ช้าลง 1 ชั่วโมง ทำให้คนได้นอนหลับเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมงนั้น งานวิจัยพบว่า ในวันต่อมา ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจวายลดลงถึง 21% กล่าวโดยสรุปก็คือ การนอนหลับไม่เพียงพอ ทำให้ความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นบ่อยจนเป็นผลเสียต่อหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจและสมอง

แหล่งข้อมูล:

  1. ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
  2. Matthew Walker (2017). Why We Sleep: The Science of Sleep and Dreams. London: Penguin Publishing.
  3. Annie Walton Doyle (2018). The Importance of REM Sleep. Sleepopolis, February 14, 2018. Last modified October 9, 2018.