จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 322 : นอนหลับกับโรคภัย 1
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 16 มิถุนายน 2564
- Tweet
ข้อมูลจากงานวิจัยในเรื่องการนอนหลับมีอยู่มากมาย แต่ค่อนข้างกระจัดกระจาย ประสบการณ์ของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมักพบว่า การนอนหลับให้เพียงพอทุกคืน จะทำให้สมองปลอดโปร่ง, มีสมาธิ, และสามารถคิดอะไรให้แตกฉาน เพราะสมองที่ได้รับการพักผ่อนเพียงพอ จะช่วยการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด
การนอนหลับ มีสหสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจกการเป็นโรคสมองเสื่อม งานวิจัยหลายชิ้น แสดงว่าการนอนน้อย (ต่ำกว่าคืนละ 7 ชั่วโมง) มีความเสี่ยงเพราะในระหว่างวันที่คนเราใช้สมองนั้น โปรตีนอะมีลอยด์ เบต้า (Amyloid beta) จะมาเกาะที่เซลล์ประสาท แต่ในตอนกลางคืนขณะที่เราหลับนั้น เป็นช่วงทำความสะอาดเพื่อกำจัดโปรตีนดังกล่าวให้หลุดลอกไป
ดังนั้น หากเรานอนหลับน้อยเกินไปอย่างต่อเนื่อง จะทำให้โปรตีนดังกล่าวสะสมเกาะตัวเป็นหินปูน (Plaque) ที่เซลล์ประสาทของเรามากขึ้น ซึ่งจะเป็นลางบอกเหตุว่า จะเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคต แล้วมันยังจะไปรบกวนการนอนหลับให้ลดน้อยลง และยิ่งนอนน้อย ก็ยิ่งสะสมโปรตีนอะมีลอยด์ ปัจจุบันบริษัทเภสัชกรรม พยายามพัฒนายาที่จะมาช่วยลดโปรตีนดังกล่าว
อย่างไรก็ดี จากการทดลองกับผู้ป่วย พบว่า เมื่อสมองเสื่อมถึงจุดหนึ่งแล้ว แม้จะมียาช่วยลดปริมาณอะมีลอยด์ได้สำเร็จ ก็ไม่อาจบรรเทาอาการสมองเสื่อมได้ หรือช่วยฟื้นฟูสมองได้ การป้องกันมิให้เกิดการสะสมอะมีลอยด์ จึงมีอยู่ประการเดียว กล่าวคือต้องพยายามนอนหลับให้เพียงพออย่างสม่ำเสมอทุกๆ คืน
นอกจากการนอนหลับให้ครบคืนละ 7 – 8 ชั่วโมงแล้ว ยังต้องมีการนอนหลับแบบตื้น (Light sleep) สลับกับการนอนหลับแบบลึก (Deep sleep) และลงเอยด้วยกันหลับฝัน (Rapid eye movement: REM) โดยในแต่ละคืน จะมีวงจร (Cycle) ดังกล่าวประมาณ 2 – 3 รอบ รวมแล้วการหลับลึกและหลับฝันอย่างละ 110 นาที รวมกันเกือบ 4 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลืออีกประมาณ 3 – 4 ชั่วโมงนั้นเป็นการหลับตื้น
ความสำคัญของการหลับลึกอยู่ที่เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะซ่อมแซมตัวเอง อวัยวะต่างๆ จะมีการล้างพิษ (Detoxication) อาทิ ไตจะรีบฟอกโลหิตให้ครบถ้วน และนานาเซลล์จะซ่อมแซมบาดแผล และสร้างกล้ามเนื้อเพิ่มเติม เป็นการเติมพลังเพื่อความพร้อมที่จะเผชิญกับภารกิจในวันถัดไป ข้อมูลงานวิจัย บ่งชี้ว่า ยิ่งนอนหลับลึกได้นานเท่าไร ยิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการซ่อมแซมร่างกายเท่านั้น
นอกจากนี้ การหลับฝันก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการต่อสมอง งานวิจัยแสดงว่า การหลับฝันมีผลกระทบต่อการเรียนรู้, การจัดระบบข้อมูล, และการระดมพลังสมอง (Brain-storming)
งานวิจัยชิ้นหนึ่งในผู้คน 2 กลุ่ม พบว่า หากสอนงานที่ต้องใช้ความรู้ใหม่ให้กับผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ถูกปลุกมิให้ได้หลับฝัน ก็จะลืมสิ่งที่ถูกสอนไปก่อนหน้านี้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกปลุกมิให้ได้หลับลึก จะยังคงจดจำสิ่งที่ถูกสอนไปก่อนหน้านี้ได้
แหล่งข้อมูล:
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
- Matthew Walker (2017). Why We Sleep: The Science of Sleep and Dreams. London: Penguin Publishing.
- Annie Walton Doyle (2018). The Importance of REM Sleep. Sleepopolis, February 14, 2018. Last modified October 9, 2018.