จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 318 : ออกกำลังกายกับอายุยืน 2
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 26 พฤษภาคม 2564
- Tweet
3. กลุ่มคนที่มีน้ำหนักปรกติ (ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5 ถึง 24.5) ออกกำลังกายแบบปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์ มีอายุยืนกว่าคนปรกติที่ไม่ออกกำลังกายถึง 4.7 ปี
4. กลุ่มคนที่น้ำหนักปรกติและออกกำลังกายแบบปานกลางสัปดาห์ละ 150 นาที มีอายุยืนกว่าคนที่เป็นโรคอ้วนและไม่ออกกำลังกายถึง 7.2 ปี
5. กลุ่มคนที่ออกกำลังกายแบบปานกลางเพียงสัปดาห์ละ 75 นาที (ครึ่งหนึ่งของเวลา 150 นาทีที่ WHO แนะนำ) มีอายุยืนกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายถึง 1.8 ปี
6. กลุ่มคนที่ออกกำลังกายมากที่สุดสัปดาห์ละ 450 นาที (เฉลี่ยวันละ 64 นาที) มีอายุยาวขึ้น 4.5 ปี แต่ถ้าออกกำลังกายสัปดาห์ละ 300 นาที มีอายุยาวขึ้น 4.1 ปี หมายความว่า การออกกำลังกายที่คุ้มค่าที่สุด คือการออกกำลังกายมากกว่าที่ WHO แนะนำ หรือออกกำลังกายสัปดาห์ละ 300 นาที
งานวิจัยชิ้นที่ 2 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute) ร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2016 โดยเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามชาย-หญิง 6 กลุ่ม ส่วนมากเป็นวัยกลางคน ทั้งหมด 661,000 คน และติดตามสาเหตุการเสียชีวิตเป็นเวลา 14 ปี แล้วพบว่า
1. กลุ่มคนที่ออกกำลังกายแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถลดความเสี่ยงจาการเสียชีวิตในช่วง 14 ปี ดังกล่าวมากถึง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ออกกำลังกายเลย
2. กลุ่มคนที่ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที ตามที่ WHO แนะนำ สามารถลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตถึง 31%
3. กลุ่มคนที่ออกกำลังกายคุ้มค่าที่สุด คือผู้ที่ออกกำลังกายมากกว่าที่ WHO แนะนำถึง 3 เท่าตัว กล่าวคือสัปดาห์ละ 450 นาที สามารถลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตถึง 39%
4. กลุ่มคนที่ออกกำลังกายอย่างหักโหมมากกว่าที่ WHO แนะนำถึง 10 เท่าตัว ไม่ได้ทำให้อายุยืนกว่ากลุ่มที่กล่าวในข้อ 3 แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงจากการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายดังกล่าวเป็นระดับปานกลาง อาทิ การเดินเร็วชั่วโมงละ 5 กิโลเมตร ซึ่งจะเผาผลาญกิโลเมตรละ 30 แคลอรี่ เปรียบเทียบกับการวิ่งชั่วโมงละ 8 กิโลเมตร ซึ่งเผาผลาญกิโลเมตรละ 50 แคลอรี่
งานวิจัยชิ้นที่ 3 โดยมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก (James Cook University) และมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ในปี ค.ศ. 2015 ได้เก็บข้อมูลและติดตามผลของการออกกำลังกายชาวออสเตรเลียที่มีอายุ 45+ ปี จำนวน 204,000 คน
แหล่งข้อมูล:
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
- Steven C. Moore, et al., Leisure Time Physical Activity of Moderate to Vigorous Intensity and Mortality: A Large Pooled Cohort Analysis, POLS Medicine, V. 9 (11), pp. 1 – 14, November 2012.
- Hannah Arem, et al., Leisure Time Physical Activity and Mortality: A Detailed Pooled Analysis of the Dose-Response Relationship. JAMA Internal Medicine, V. 175 (6), pp. 959 – 967, June 2015.