จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 314 : นอนหลับอย่างมีคุณภาพ
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 21 เมษายน 2564
- Tweet
การนอนหลับเป็นเรื่องสำคัญมาก หากนอนหลับไม่เพียงพอ จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคร้ายแรง อาทิ โรคสมองเสื่อม, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ และภาวะอ้วนเกิน นอกจากนี้ จะรู้สึกอ่อนเพลียในวันถัดไป ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการตัดสินใจผิดพลาด และในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หากมีการขับรถยนต์
หากใส่นาฬิกาที่มีระบบติดตามกิจกรรม (Activity tracker) ก็จะสามารถวัดคุณภาพการนอนได้ด้วย คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การนอนน้อยไม่เป็นปัญหาสำคัญแต่อย่างใด แต่ใครที่เคยเป็นนักธุรกิจ ย่อมทราบดีว่า การนอนหลับให้เพียงพอ จะทำให้สมองปลอดโปร่งและมีสมาธิ สามารถคิดอะไรก็แตกฉาน
ดังนั้นสมองจึงต้องได้รับการพักผ่อนเพียงพอ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด งานวิจัยในเรื่องการนอนหลับมีอยู่มากมายแต่ค่อนข้างกระจัดกระจาย
ดร. แมทธิว วอล์คเก้อร์ (Matthew Walker) ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษด้านวิทยาศาสตร์ประสาทวิทยา (Neuro-science) และจิตวิทยา (Psychology) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบิร์กลีย์ (University of California at Berkeley) ได้เขียนหนังสือเรื่อง “คนเรานอนหลับทำไม : วิทยาศาสตร์ของการนอนและฝัน” (Why We Sleep: The Science of Sleep and Dreams)
เขากล่าวว่า การนอนอย่างมีคุณภาพ คือการนอนหลับคืนละ 7 – 8 ชั่วโมง โดยนอนลึกและหลับฝัน แต่การนอนหลับมากเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อคืน อาจมิได้มีประโยชน์มากขึ้น แต่กลับเป็นโทษด้วยซ้ำ ดร. วอล์คเกอร์ อ้างว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่นอนไม่ถึง 7 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งน่าจะไม่แตกต่างกับบริบทในสังคมไทย
ผู้สูงอายุเอง มักมีปัญหาการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ เพราะนอนหลับไม่ถึงคืนละ 7 ชั่วโมง จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคร้ายแรงที่ไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases : NCD) ในส่วนของโรคมะเร็งนั้น งานวิจัยแสดงผลว่า คนนอนน้อยมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) ในผู้ชาย และโรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer) ในผู้หญิง
การศึกษาเรื่องการนอนหลับ 10 ปีก่อนหน้านี้ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ณ แมดิสัน (University of Wisconsin at Madison) พบว่า ในคนที่นอนหลับน้อย (ต่ำกว่าคืนละ 7 ชั่วโมง) ผิวพรรณจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนัก หลังตากแดดนานๆ กล่าวคือ คนที่นอนน้อย จะมีผิวพรรณที่ดูแก่ก่อนวัยอันสมควร อีกด้วย
ดร. วอล์คเก้อ มีงานวิจัยกว่า 20 ชิ้นที่ติดตามพฤติกรรมของคนนับล้านคนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีข้อสรุปที่เหมือนกันว่า คนยิ่งนอนน้อย ยิ่งมีอายุสั้น เนื่องจากสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในโลกตะวันตก อันได้แก่ โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน, โรคสมองเสื่อม, และโรคมะเร็วนั้น ล้วนมีสหสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ กับการนอนหลับไม่เพียงพอ
แหล่งข้อมูล:
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
- Matthew Walker - https://en.wikipedia.org/wiki/Matthew_Walker_(scientist) [2021, April 20]
- Wisconsin Sleep - https://www.uwhealth.org/wisconsinsleep/wisconsin-sleep/48043 [2021, April 20]