จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 281: การดูแลแบบบรรเทาอาการ (3)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-281

      

ประเด็นสำคัญในการดูแลแบบบรรเทาอาการ (Palliative care) อาจถกเถียงได้ว่าคือ คุณภาพของชีวิต (Quality of life : QOL) ซึ่งเป็นแนวความคิดที่คลุมเครือ (Nebulous) มิใช่เพียงเพราะนิยามที่มีความแตกต่างอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม แก่นสาร (Essence) ของมันคือการวัดว่า บุคคลรู้สึกสะดวกใจและพึงพอใจแค่ไหนกับสุขภาพของเขาและสถานการณ์โดยทั่วไป

QOL ได้รับการประดิษฐ์ขึ้น (Devised) เพื่อวัดแง่มุม (Aspect) ที่สำคัญ (แต่มักถูกมองข้ามไป) ของการดูแลผู้ป่วย กล่าวคือ การได้อย่างเสียอย่าง (Trade-off) ระหว่างประสิทธิผล (Effectiveness) ของการรักษาพยาบาลกับความสะดวกสบาย (Comfort) ของผู้ป่วย ซึ่งสามารถอธิบายได้ดีที่สุดด้วยการยกตัวอย่าง

สมมุติว่ามีการรักษาพยาบาลอยู่ 2 แบบ ของโรคเดียวกัน การรักษาพยาบาลแบบ A ได้ประสิทธิผลมากในการรักษาผู้ป่วย แต่มีผลข้างเคียง (Side effect) ที่น่าสะพรึงกลัว (Horrible unpleasantness) ส่วนการรักษาพยาบาลแบบ B ได้ประสิทธิผลน้อยกว่า แต่ไม่มีผลข้างเคียงเลย เราควรให้การรักษาพยาบาลแบบไหนแก่ผู้ป่วย?

การรักษาพยาบาลแบบ A คือวิธีการที่ถูกต้องในแง่ของแนวโน้มของการกำจัดโรค แต่ผลข้างเคียงหมายความว่า QOL ของผู้ป่วยต้องลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการรักษาพยาบาลแบบ B แม้ว่ามีแนวโน้มน้อยที่จะหายป่วย แต่ไม่มีผลกระทบ (Impinge) ต่อ QOL เลย

ผู้คนส่วนมากที่เผชิญกับปัญหามักถกเถียงว่า ควรรักษาพยาบาลแบบ B ก่อน เพราะถ้ามันได้ผล ผู้ป่วยก็จะได้ประสบการณ์ที่ดีกว่า และควรรักษาพยาบาลแบบ A เมื่อแบบ B ล้มเหลว แต่ถ้าเป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิต และ/หรือ ไม่มีเวลาที่จะลองทั้ง 2 แบบล่ะ? แพทย์ควรจะให้ความสำคัญของความสะดวกใจของผู้ป่วยมากกว่าความแน่นอนของการรักษาให้หายป่วยหรือไม่?

ปัญหาที่คล้ายคลึงกันซึ่งแพทย์ต้องเผชิญอยู่ คือการตัดสินใจว่า จะเสนอการรักษาพยาบาลแบบบรรเทาอาการเป็นทางเลือกเดียว (Sole) ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Terminal state) หรือไม่? การเลือก (Pursue) การรักษาพยาบาลในเชิงรุก (Aggressive) [กล่าวคือ พยายามเอาชนะโรคเป็นวัตถุประสงค์แรก โดยบรรเทาความเจ็บปวด ส่วนความสบาย (Comfort) ของผู้ป่วยเป็นวัตถุประสงค์รอง] จนถึงระยะสุดท้ายของชีวิต

แต่การรักษาในเชิงรุกมักมีผลข้างเคียงที่ไม่น่าสบาย(Discomfort) นัก และจากประสบการณ์ของหลายร้อยกรณีที่คล้ายคลึงกัน แพทย์อาจรู้ว่าโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จสำหรับผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการเฉพาะค่อนข้างน้อยมาก (Extra-ordinarily slim) หรือไม่มีเลย (Non-existent) ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะไม่สบาย และไขว่คว้าโอกาส (Clutch at straws) ที่คิดว่าจะอยู่รอด (Survive)

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ QOL อยู่ในระดับต่ำ อีกทางเลือกหนึ่ง คือการยอมรับว่า อาการของผู้ป่วยจะเลวร้ายลง จนถึงแก่ความตาย (Fatal) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงการดูแลแบบบรรทเทาอาการจะเพิ่ม QOL ของผู้ป่วยขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Death - https://en.wikipedia.org/wiki/Death[2020, September 1].
  3. Palliative care - https://en.wikipedia.org/wiki/Palliative_care[2020, September 1].