จานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ (Janus kinase inhibitor)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เซลล์ของสิ่งมีชีวิต มีกิจกรรมที่ต้องทำให้ตัวมันเองอยู่รอด เพื่อจะได้ทำหน้าที่ต่างๆ ที่ธรรมชาติมอบหมายให้ เช่น การเจริญเติบโต การแบ่งตัว การตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค การแสดงออกของเซลล์ต่างๆต่อหน้าที่ดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยการกระตุ้นจากสารชีวภาพประเภทโปรตีน/สารโปรตีนซึ่งมีอยู่หลายชนิดอาทิ Cytokine, Interferon, Erythropoietin, Growth factor, Interleukin, Prolactin, Thrombopoietin เป็นต้น ทั้งนี้ Cytokine จัดเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้มีการเจริญเติบโตและการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน เมื่อสารชีวภาพชนิดนี้เข้ามาเกาะกับตัวรับบนเยื่อหุ้มเซลล์ จะมีการถ่ายทอดสัญญาณส่งเข้าไปภายในเซลล์ โดยมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine kinase ย่อว่า TYK คือ เอนไซม์ที่ช่วยเซลล์ในการใช้พลังงานจากโปรตีน)ภายในเซลล์เป็นตัวรับสัญญาณดังกล่าว จากนั้นจะเกิดกิจกรรมการแปลสัญญาณเข้าไปสู่นิวเคลียสของเซลล์ ทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการเจริญเติบโต และเกิดการแบ่งตัวให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น

ไทโรซีนไคเนส ถูกกำหนดให้เป็นสารชีวะโมเลกุลที่มีความสำคัญต่อกิจกรรมภายในเซลล์ และยังแบ่งย่อยออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้

1. Janus kinase(JAK, คือ เอนไซม์ Tyrosine kinase ซึ่งทำงานอยู่ที่เยื่อหุ้มเซลล์ ) 1 ย่อว่า JAK1 (แจ็ควัน) เป็นเอนไซม์ที่จะตอบสนองต่อการกระตุ้นของ Cytokine Type I และ Type II กรณี JAK1 เกิดการกลายพันธุ์ หรือทำงานผิดปกติ สามารถส่งผลให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น

2. Janus kinase 2 ย่อว่า JAK2 (แจ็คทู) เป็นเอนไซม์ที่คอยตอบสนองต่อ Cytokine Type II โดยความผิดปกติของ JAK2 สามารถทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ/โรคเลือดหนืด(Polycythemia vera) หรือเกิดพังผืดในไขกระดูก(Myelofibrosis)

3. Janus kinase 3 ย่อว่า JAK3 (แจ็กทรี) มีความสัมพันธ์ต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หาก JAK3 ผิดปกติไป จะทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิด T-cell acute lymphoblastic leukemia หรือโรคภูมิต้านทานตนเอง (โรคออโตอิมมูน/Autoimmune)

4. Tyrosin kinase(TYK) 2 ย่อว่า TYK2 เป็นเอนไซม์ที่ตอบสนองต่อตัวกระตุ้นประเภท Interferon กรณีมีความผิดปกติของ TYK2 อาจทำให้เกิดโรคอิมมิวในโกลบูลินอีสูง (Hyperimmunoglobulinemia E Syndrome)

ยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์(Janus kinase inhibitor ย่อว่า JAK inhibitor อีกชื่อคือ Jakinib) เป็นกลุ่มยาที่ใช้ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ JAK1, JAK2, JAK3 และ TYK2 กลไกการออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ การรบกวนและยับยั้งเส้นทางการส่งและแปลสัญญาณจากกลุ่มเอนไซม์จานัสไคเนสที่มีความผิดปกติเข้าสู่นิวเคลียสภายในเซลล์ ยากลุ่มนี้จึงทำให้การทำงานของเซลล์กลับมาเป็นปกติ และส่งผลให้อาการโรคทุเลาลง

ตัวอย่างของยากลุ่มจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์มีอะไรบ้าง?

จานัสไคเนสอินฮิบิเตอร์

ยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ ถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. กลุ่มที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและมีใช้ทางการแพทย์แล้ว เช่น

  • Ruxolitimib มีกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ JAK1 (JAK1 inhibitor) และ JAK2 (JAK2 inhibitor) ใช้บำบัดรักษา โรคพังผืดในไขกระดูก(Myelofibrosis) และ ภาวะ/โรคเลือดหนืดเนื่องจากเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ(Polycythemia vera) บางสถานพยาบาลอาจนำมาใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน(Psoriasis) และโรคข้อรูมาตอยด์(Rheumatoid arthritis)
  • Tofacitinib ออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของ JAK3 (JAK3 inhibitor) ทางคลินิก ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน และโรคข้อรูมาตอยด์
  • Oclacitinib ออกฤทธิ์ต่อต้าน JAK1 ถูกนำไปใช้รักษาอาการผิวหนังอักเสบของสุนัข

2. กลุ่มยาที่อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา: ยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ หลายรายการที่รอการสรุปคุณประโยชน์ทางเภสัชวิทยา อาทิ ขนาดรับประทาน ภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา ตลอดจนกระทั่งภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ที่อาจจะเกิดขึ้นและรอการนำมาใช้ได้อย่างจริงจังในอนาคต เช่น Baricitinib, Filgotinib, Gandotinib, Lestaurtinib, Momelotinib, Pacritinib, Upadacitinib, Peficitinib, และ Fedratinib

จานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ไซโตไคน์(Cytokine) เป็นสารชีวะโมเลกุลที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเติบโตของเซลล์ รวมถึงการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน ไซโตไคน์หลายตัวทำงานโดยเข้าจับและกระตุ้นตัวรับ(Receptor)ที่เยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งเรียกกันว่า Cytokine type I และ type II receptor ตัวรับเหล่านี้เชื่อมต่อกับเอนไซม์ภายในเซลล์ที่ชื่อว่า จานัสไคเนส(JAK) ซึ่งคอยทำหน้าที่ถ่ายโอนรหัสสัญญาณหรือจะเรียกว่าเป็นคำสั่งเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ เอนไซม์จานัสไคเนสที่ผิดปกติหรือเป็นเอนไซม์ที่ได้มาจากการกลายพันธุ์ก็จะส่งสัญญาณที่ผิดปกติเป็นปริมาณมากเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ เป็นผลให้จีน/ยีน/Geneบนโครโมโซมแปลผลตามสัญญาณที่ผิดปกติตามกันไปจนก่อให้เกิดโรคต่างๆตามมา

ยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ เป็นกลุ่มยาที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ เอนไซม์จานัสไคเนส(JAK)ที่ประกอบด้วย JAK1 , JAK2 , JAK3 และTYK2 การปิดกั้นคำสั่งที่ผิดปกติจากเอนไซม์ทั้ง 4 ตัว ทำให้เซลล์ที่ได้รับยาชนิดนี้กลับมาทำงานอย่างเป็นปกติอีกครั้ง จึงทำให้อาการโรคทุเลาลง

จานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยา จานัสไคเนสอินฮิบิเตอร์ ที่ใช้ในคน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยา Ruxolitinib : ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5, 10, 15, 20, และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยา Tofacitinib : ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด

ในประเทศไทย ยาทั้ง 2 รายการถูกจัดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

จานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาจานัสไคเนสอินฮิบิเตอร์ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยานี้ไปสักระยะหนึ่ง อาการป่วยจึงจะเริ่มทุเลาลงเป็นลำดับ ซึ่งเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาเดิมในแต่ละวันตามคำสั่งแพทย์

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาจานัสไคเนสอินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาจานัสไคเนสอินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติในเวลาเดิม

จานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่างๆดังต่อไปนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดรอยช้ำ/ห้อเลือด และควรระวังการติดเชื้องูสวัด
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย: เช่น อาจติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น อาจทำให้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีภาวะขาดน้ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ อาจพบภาวะเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ มีไข้
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้จานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • ห้ามรับประทานร่วมกับน้ำผลไม้ประเภท Grapefruit juice
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • รับประทานยานี้ตรงขนาดและเวลาตามคำสั่งแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ผู้คนแออัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ
  • หากพบอาการข้างเคียงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้รีบนำ ผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด อาการข้างเคียงดังกล่าว เช่น ปวดหรือแสบขณะปัสสาวะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีแผลพุพองตามผิวหนัง ตรวจพบว่าโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำหรือมีภาวะเลือดออกง่าย
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

จานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ ยาRuxolitinib กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับวัคซีนบีซีจี(BCG) เพราะยาRuxolitinib อาจเป็นต้นเหตุทำให้ร่างกายผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคจากตัววัคซีนเสียเอง ควรเว้นระยะเวลาหลังการฉีดวัคซีนบีซีจีไปแล้ว 2–3 สัปดาห์ จึงสามารถใช้ยา Ruxolitinib ได้
  • ห้ามใช้ยาTofacitinib ร่วมกับยา Azathioprine, Ciclosporin, Tacrolimus เพราะจะทำให้เกิดภาวะกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างรุนแรง

ควรเก็บรักษาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาจานัสไคเนสอินฮิบิเตอร์ ในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุ ไม่ทิ้งทำลายยาลงในคูคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

จานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Jakavi (จาคาวี)Novartis
Xeljanz (เซลจานซ์)Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://www.youtube.com/watch?v=vdEAX-J4xyk [2018,July14]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Janus_kinase_inhibitor [2018,July14]
  3. https://www.youtube.com/watch?v=MMS4l7cSBDU [2018,July14]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Janus_kinase#/media/File:Signal_transduction_pathways.svg [2018,July14]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Janus_kinase_1 [2018,July14]
  6. https://www.youtube.com/watch?v=dnnsqiDjAgM [2018,July14]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Janus_kinase_2#Interactions [2018,July14]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Janus_kinase_3 [2018,July14]
  9. http://www.mims.com/thailand/drug/info/xeljanz/?type=brief [2018,July14]
  10. http://www.mims.com/thailand/drug/info/tofacitinib/?type=brief&mtype=generic [2018,July14]