จัดการความปวดด้วย PCA
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 25 ธันวาคม 2564
- Tweet
จัดการความปวดด้วย PCA
จากข่าวที่คณะผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่งได้บริจาคเครื่องให้ยาระงับปวดแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยให้เกิดประสิทธิภาพและกระจายโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมผัสกับเครื่องนี้ด้วยตัวเอง จึงอยากนำมาอธิบายเพิ่มเติมดังนี้
เครื่อง PCA (Patient Control Analgesia ) เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการให้ยาระงับปวดแก่คนไข้ผ่านทางสายน้ำเกลือด้วยการกดปุ่ม โดยยาที่ใช้จะเป็นยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (opioid) เช่น มอร์ฟีน (morphine) เฟนทานิล (fentanyl) และ ไฮโดรมอร์โฟน (hydromorphone) ภายใต้การดูแลของแพทย์
PCA เป็นเครื่องมือพิเศษที่แพทย์เป็นผู้ตั้งเครื่องกำหนดขนาดยาในการให้ยาระงับปวดโดยเทียบปริมาณยาที่จะให้กับอายุ น้ำหนัก และประเภทการผ่าตัดของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะเป็นผู้ควบคุมการให้ยาระงับปวดด้วยตนเองในขนาดที่เหมาะสม
ผู้ป่วยสามารถกดยาได้เองเมื่อรู้สึกปวด ยกเว้นกรณีที่รู้สึกง่วงนอน ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยรู้สึกปวดและกดปุ่มเพื่อขอยา เครื่องจะจ่ายยาผ่านทางสายน้ำเกลือตามปริมาณที่แพทย์กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัย โดยมีหลักการใช้คือ “เริ่มปวดก็กดปุ่ม ไม่ปวดไม่ต้องกด” ซึ่งยาที่ปล่อยออกมาแต่ละครั้งจะมีขนาดน้อย หลังจากกดปุ่ม 1 ครั้ง ให้รอสักครู่ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นให้กดปุ่มได้อีก ไม่จำกัดจำนวน แต่ถ้ารู้สึกว่ากดหลายครั้งแล้วยังไม่หายปวด ให้แจ้งพยาบาลทราบ นอกจากนี้ยังมีหลักสำคัญคือ ห้ามให้ผู้อื่นกดปุ่มให้ เพราะตัวผู้ป่วยเองเท่านั้นที่จะทราบว่าตัวเองต้องการยาหรือไม่
ผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง PCA มักเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังการผ่าตัด หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินยาทางปาก ทั้งยังเหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีความเจ็บป่วยตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับรุนแรง
PCA ถือเป็นเครื่องที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การมีปฏิกริยาต่อสารโอปิออยด์ (opioid) ที่ใช้เป็นยาระงับปวด ซึ่งอาจได้แก่
- ปฏิกริยาแพ้ (allergic reaction)
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- ความดันโลหิตต่ำ
- ง่วงนอน
- ท้องผูก
- หายใจลำบาก
- เซื่องซึม (drowsiness)
- คัน
- ปากแห้ง
อย่างไรก็ดี หากมีการใช้ที่ถูกต้องก็จะช่วยลดปริมาณการใช้ยาที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยเป็นผู้กดปุ่มให้ยาเองซึ่งจะทราบดีว่ายาปริมาณขนาดไหนที่พอดีกับตัวเอง
แหล่งข้อมูล
- คณะผู้บริหารบริจาคเครื่องให้ยาระงับปวด แด่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย https://www.gunkul.com/th/updates/csr-activities/552/คณะผู้บริหารบริจาคเครื่องให้ยาระงับปวด- แด่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์-สภากาชาดไทย [2019, December 24].
- Patient-Controlled Analgesia (PCA). https://www.webmd.com/pain-management/guide/pca [2019, December 4].
- Patient-Controlled Analgesia Pumps. https://www.hopkinsmedicine.org/health/treatment-tests-and-therapies/patientcontrolled-analgesia-pumps [2019, December 4].
- Patient-Controlled Analgesia Pump. https://my.clevelandclinic.org/health/drugs/12057-patient-controlled-analgesia-pump [2019, December 4].