คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ยารักษาเบาหวานช่วยเพิ่มอัตราปลอดโรคในมะเร็งเต้านมหรือไม่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ยารักษาเบาหวานช่วยเพิ่มอัตราปลอดโรคในมะเร็งเต้านมหรือไม่

เนื่องจากมีการศึกษาแบบ Observational และการศึกษาทางการแพทย์ในห้องปฏิบัติการพบว่ายา Metformin ซึ่งเป็นยามาตรฐานชนิดหนึ่งในการรักษาโรคเบาหวานชนิด 2 สามารถช่วยเพิ่มอัตราปลอดโรคในมะเร็งเต้านมสตรีได้ คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากประเทศ แคนาดา, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, และ สวีตเซอร์แลนด์ จึงศึกษาร่วมกัน ภายใต้การศึกษาที่ชื่อว่า The MA.32 Randomized Clinical Trial ซึ่งนำโดย พญ. Pamela J. Goodwin แห่ง Lunenfeld-Tanenbaum Research Institute, Mount Sinai Hospital, Department of Medicine, University of Toronto, Toronto, Ontario, แคนาดา เพื่อศึกษาว่า ยา Metformin มีประสิทธิภาพเพิ่มอัตราปลอดโรคมะเร็งเต้านมหรือไม่ (เพราะยานี้ มีใช้กว้างขวางทั่วโลก ราคาไม่แพง และใช้วิธีกิน ดังนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างมากถ้ายานี้เพิ่มอัตราควบคุมโรคมะเร็งเต้านมได้) และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ JAMA ฉบับ 24 พฤษภาคม 2022

การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ Phase 3 randomized, placebo-controlled, double-blind trial ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสตรีทั้งหมดที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน 3,649 รายในช่วง สิงหาคม 2010 - มีนาคม 2013 และติดตามผู้ป่วยจนถึง ตุลาคม 2020, โดยติดตามผู้ป่วยได้ครบทั้งหมด, ผู้ป่วยทุกรายทราบค่า ตัวรับฮอร์โมน (ER,PgR), และ HER2, และทุกรายได้รับการรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีรักษามาตรฐานซึ่งมีทั้งผู้ได้รับยาเคมีบำบัดและไม่ได้รับยาเคมีบำบัด รวมถึงได้รับฮอร์โมน หรือไม่ได้รับฮอร์โมน, ผู้ป่วยทุกรายสุ่มตัวอย่างที่จะได้รับยารับประทาน Metformin 850 mg 2 ครั้งต่อวันนาน 5 ปี (=1,824 ราย),หรือได้รับยาหลอก 2 ครั้งต่อวัน นาน 5 ปีเช่นกัน (=1,825 ราย), รวมถึงการสุ่มตัวอย่างเรื่องตัวรับฮอร์โมนและค่าดัชนีมวลกาย (น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30, และกลุ่มมากกว่า 30), โดยการศึกษาหลัก คือ อัตราปลอดโรคในผู้ป่วยที่มีตัวรับฮอร์โมน (HR+), และผลอื่นๆที่เป็นตัวรอง ได้แก่ อัตรารอดชีวิต, อัตราปลอดโรคแพร่กระจายทางกระแสเลือด, และระยะเวลาที่ปลอดโรค

ผู้ศึกษาทั้งหมดมีอายุเฉลี่ย 52.4 ปี, ระยะกึ่งกลางการติดตามโรคคือ 96.2 เดือน (ช่วง 0.2-121 เดือน), ผลการศึกษาเรื่องหลัก (อัตราปลอดโรคมะเร็งฯ) ได้แก่  

  • ในกลุ่ม ER/PgR+ พบว่า ไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติในระหว่างผู้ป่วยได้ยา Metformin และไม่ได้ยา (p=0.93)
  • ในกลุ่ม ER/PgR- พบว่า ไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติเช่นกันในระหว่างผู้ป่วยได้ยา Metformin และไม่ได้ยา (p=92)

ผลการศึกษาเรื่องรองอื่นๆ ได้แก่

  • อัตราตาย: ไม่ต่างกันทางสถิติในกลุ่มได้ยา Metformin และไม่ได้ยา (P = 0.47)
  • อัตรารอดชีวิต, อัตราปลอดโรคแพร่กระจายทางกระแสเลือด, และระยะเวลาที่ปลอดโรค ก็ไม่ต่างกันทางสถิติในกลุ่มได้ยา Metformin และไม่ได้ยาฯ
  • ผลข้างเคียงจากการรักษาที่ไม่ใช่ผลต่อระบบเลือดที่มีความรุนแรงระดับ 3 (Grade3) พบในกลุ่มได้ยา Metformin สูงกว่ากลุ่มไม่ได้ยาฯ อย่างสำคัญทางสถิติ (p=0.003) ซึ่งที่พบบ่อย เช่น ความดันโลหิตสูง, ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ, และท้องเสีย

คณะผู้ศึกษา สรุปว่าในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสตรีที่ไม่เป็นเบาหวาน การได้รับยารักษาเบาหวาน Metformin ไม่ช่วยเพิ่มอัตราปลอดโรคอย่างสำคัญทางสถิติ

บรรณานุกรม

  • Pamela J. Goodwin, et al. JAMA. 2022; 327(20):1963-1973.