คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งไฝ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 16 มกราคม 2566
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งไฝ
มะเร็งไฝหรือมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma of skin) ในการจัดลำดับทั่วโลกปี 2020 พบบ่อยเป็นอันดับ 17 ของมะเร็งทุกชนิด เฉลี่ยเป็นมะเร็งพบน้อยประมาณ 3.4 รายต่อประชากร 1 แสนคน แต่พบสูงที่สุดในออสเตรเลีย คือ 36.6 รายต่อประชากร1แสนคน มะเร็งไฝเป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ แต่ก็พบได้ทุกอายุ เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิงแต่อาจเพราะเพศชายมีปัจจัยเสี่ยงสูงกว่า และพบในคนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำและชาวเอเชีย จัดเป็นมะเร็งมีความรุนแรงโรคระดับปานกลาง ในสหรัฐอเมริกามีรายงานอัตรารอดที่ห้าปีเฉลี่ยทุกระยะโรครวมกันอยู่ในช่วง 30-95% ขึ้นกับระยะโรค
ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งไฝมีหลายปัจจัย ถ้าคนไหนมีหลายปัจจัย โอกาสเกิดมะเร็งไฝก็จะสูงขึ้นมากกว่าผู้มีปัจจัยเดียวหรือมีปัจจัยน้อยกว่า โดยปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่
- แสงยูวี: เป็นปัจจัยสำคัญหลัก ทั้งยูวีจากแสงแดด(เป็นปัจจัยหลักสำหรับคนทั่วไป), และยูวีจากที่ใช้รักษาบางโรค เช่น ซึมเศร้าในการลดความหม่นหมองในฤดูหิมะ,หรือใช้ในห้องปฏิบัติการในการฆ่าเชื้อโรค
- ไฝที่มีลักษณะผิดปกติ: โดยเฉพาะผิดไปจากเดิม เช่น ขนาดใหญ่ โตเร็ว หลายสีในไฝเดียว รูปร่างไฝบิดเบี้ยวไม่กลมหรือรี ขอบเขตไม่เรียบ หยักไปหยักมา เลือดออกง่าย หรือเป็นแผลเรื้อรัง รูปร่างลักษณะเปลี่ยนตลอดเวลา และกินลึกลงใต้ผิวหนัง
- ไฝชนิดที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมโดยเฉพาะในครอบครัวที่มีมะเร็งไฝ
- ไฝขนาดใหญ่ตั้งแต่แรกเกิด และไม่จางหายไปเมื่อโตขึ้น มีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งไฝได้ 0-5%
- มีไฝทั่วตัวจำนวนมากผิดปกติ
- เชื้อชาติตะวันตก, เชื้อชาติผิวขาว
- คนที่มี ผิวบาง/สีซีด ตกกระ ผมสีอ่อน ตาสีอ่อน
- ผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งผิวหนังทุกชนิด โดยเฉพาะมะเร็งไฝ
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, ผิดปกติ เช่น ปลูกถ่ายอวัยวะ, เอชไอวี/เอดส์
- เพศชาย: แต่การศึกษาชี้ว่า เพราะผู้ชายมักมีกิจวัตรออกแดดมากกว่าผู้หญิง
- โรคทางพันธุกรรมที่พบน้อยมากที่เรียกว่า Xeroderma pigmentosum ที่ผู้ป่วยจะมีผิวบางและแห้งมาก ตกกระทั่วตัว และผิวจะไวต่อแสงแดดมากและซ่อมแซมเซลล์เซลล์ที่บาดเจ็บจากถูกแสงแดดไม่ได้หรือได้น้อยกว่าปกติมมาก
- พันธุกรรม: มีประวัติมะเร็งไฝในครอบครัว
ดังนั้นการดูแลตนเอง: เช่น
- เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวร่วมกับมีไฝ ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาวิธีดูแลตนเอง
- สำรวจผิวหนังตนเองทั่วตัวอย่างน้อยทุกเดือน ถ้าพบสิ่งผิดปกติที่อธิบายไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
- หลีกเลี่ยงแสงยูวีที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะแสงแดด ซึ่งถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องหาเครื่องป้องกัน เช่น หมวก ร่ม เสื้อผ้า ระยะเวลาที่ออกแดด ครีมกันแดด
บรรณานุกรม