ผลการรักษามะเร็งช่องปากและมะเร็งคอหอยส่วนปากระยะ1,2 เปรียบเทียบด้วยผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองลำคอทั้งหมดกับเลาะออกเฉพาะกลุ่มแรกที่โรคลุกลาม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-423

      

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งช่องปากและมะเร็งคอหอยส่วนปากระยะ1,2 เปรียบเทียบระหว่างการรักษาด้วยผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองลำคอออกทั้งหมดกับผ่าตัดเลาะออกเฉพาะต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกที่โรคลุกลาม

การลุกลามของมะเร็งเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง มักเป็นการลุกลามเข้าเฉพาะต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกก่อนคือกลุ่มอยู่ใกล้รอยโรคมากที่สุดที่เรียกว่า‘Sentinel nodes (SN)’ จากนั้นในระยะต่อมา จึงจะลุกลามจากต่อมน้ำเหลืองSNนี้ไปยังต่อมน้ำเหลืองอื่นๆ แพทย์โรคมะเร็งเชื่อว่า ถ้าตรวจไม่พบเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองกลุ่มSNนี้ โอกาสที่จะพบเซลล์มะเร็งลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองอื่นๆจะน้อยมากๆ ซึ่งการผ่าตัดเลาะเฉพาะต่อมน้ำเหลืองกลุ่มSNออก จะมีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยกว่ามากจากการเลาะต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดออก ดังนั้นในมะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม ปัจจุบันการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ จึงเป็นการผ่าตัดเลาะเฉพาะต่อมน้ำเหลืองกลุ่มSNก่อน และถ้าตรวจไม่พบเซลล์มะเร็งลุกลาม ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองอื่นๆในรักแร้ออกไป แต่เมื่อตรวจพบเซลล์มะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองกลุ่มSNจึงจะเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ทั้งหมดออก การรักษาวิธีนี้ได้ศึกษาและนำมาปฏิบัติเป็นวิธีรักษามะเร็งเต้านมปัจจุบันทั่วโลก ซึ่งช่วยลดโอกาสเกิดแขนบวมจากการผ่าตัดลงได้เป็นอย่างมาก

คณะศัลยแพทย์มะเร็งศีรษะและลำคอจากประเทศฝรั่งเศส นำโดย นพ. Renaud Garrel จาก Head Neck Surgery Department, Montpellier University Hospital Center, Montpellier, France จึงต้องการศึกษาเปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งช่องปากและมะเร็งคอหอยส่วนปากระหว่างผ่าตัดวิธีมาตรฐานที่เลาะต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเกิดโรคออกทั้งหมด กับการรักษาโดยเลาะเฉพาะต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกที่เซลล์มะเร็งลุกลาม(SN) ซึ่งเมื่อไม่พบมีเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าSN ก็จะไม่เลาะต่อมน้ำเหลืองที่เหลือออกทั้งหมด แต่ถ้าพบมีมะเร็งลุกลามเข้าSNจึงจะเลาะต่อมน้ำเหลืองลำคอด้วยวิธีมาตรฐานคือเลาะออกทั้งหมด ซึ่งได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง JCO(Journal of Clinical Oncology) ฉบับ 1ธันวาคม ค.ศ.2020

การศึกษานี้เป็นการศึกษาทางการแพทย์ระยะที่3 คือ การศึกษาแบบล่วงหน้าเปรียบเทียบผู้ป่วย2กลุ่มด้วยการสุ่มตัวอย่าง ระหว่างผู้ป่วยรักษาด้วยการเลาะต่อมน้ำเหลืองลำคอวิธีมาตรฐานที่เลาะต่อมน้ำเหลืองลำคอทั้งหมดดังกล่าวในตอนต้น(กลุ่มควบคุม), และกลุ่มเลาะเฉพาะต่อมน้ำเหลืองSN(กลุ่มศึกษา) ซึ่งศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งช่องปากและมะเร็งคอหอยส่วนปาก’ระยะ1,2’ ทั้งหมด279ราย, เป็นกลุ่มควบคุมเลาะต่อมน้ำเหลืองลำคอออกทั้งหมด139 ราย, เป็นกลุ่มศึกษาเลาะออกเฉพาะSN=140ราย

ผลพบว่า:

  • ที่ 2 ปี: พบว่าไม่มีการย้อนกลับเป็นซ้ำที่ต่อมน้ำเหลืองลำคอในกลุ่มควบคุม=89.6%, ส่วนในกลุ่มศึกษา=90.7% ซึ่งไม่ต่างกันทางสถิติ
  • ที่ 5 ปี: อัตราย้อนกลับเป็นซ้ำ, อัตราเสียชีวิตจากมะเร็ง, และอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มไม่ต่างกันทางสถิติ
  • ระยะเวลากึ่งกลาง(median time)ของการอยู่โรงพยาบาล: กลุ่มควบคุมอยู่โรงพยาบาลนาน 8 วัน, กลุ่มศึกษานาน=7วัน ซึ่งต่างกันทางสถิติ(pน้อยกว่า0.01)
  • คุณภาพการทำงานของศีรษะและลำคอ:กลุ่มควบคุมแย่กว่ากลุ่มศึกษามากจนกระทั่ง6เดือนหลังการรักษา

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ผลจากการศึกษาที่ไม่แตกต่างกันทางสถิติของผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มในด้านการควบคุมโรค แต่คุณภาพการทำงานของศีรษะและลำคอของกลุ่มเลาะเฉพาะSN ดีกว่ามาก ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีเลาะเฉพาะต่อมน้ำเหลืองSNกรณีตรวจแล้วไม่พบเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองSNจึงน่าจะปรับใช้เป็นวิธีรักษามาตรฐานใน’มะเร็งช่องปากและมะเร็งคอหอยส่วนปาก-ระยะ1และ2’

แหล่งข้อมูล:

  1. JCO 2020; 38(34): 4010–4018(abstract)