คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกกับการออกกำลังกาย

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-422

      

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งแพร่กระจายที่ต่อมหมวกไตด้วยรังสีรักษา

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นมะเร็งสตรีพบบ่อยเป็นลำดับที่8ของสตรีไทยรองจากมะเร็ง เต้านม, ตับ, ปากมดลูก, ลำไส้ใหญ่, ปอด, รังไข่, และไทรอยด์ และเป็นมะเร็งมักพบในสตรีวัยหมดประจำเดือน

คณะนักวิทยาศาสตร์จากประเทศแคนาดานำโดย ดร. Christine M. Friedenreich จาก Department of Cancer Epidemiology and Prevention Research, CancerControl Alberta, Alberta Health Services, Calgary, Alberta, Canada ต้องการศึกษาว่าการออกกำลังกายสม่ำเสมอทั้งก่อนการวินิจฉัยโรค และการออกกำลังกายสม่ำเสมอหลังการรักษา มีผลต่ออัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือไม่ ซึ่งได้เผยแพร่ผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา JCO: Journal of Clinical Oncology ฉบับ 1 ธันวาคม 2020

โดยเป็น การศึกษาตามรุ่นตามแผน (Prospective cohort study)เพื่อศึกษาว่าการออกกำลังกายก่อนและหลังการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีผลต่ออัตรารอดชีวิติของผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งศึกษาจากผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเมือง Alberta ประเทศแคนาดาในช่วงปีค.ศ. 2002-2006และติดตามผู้ป่วยถึงค.ศ. 2019 และการศึกษาในเรื่องการออกกำลังกาย ใช้วิธีตอบแบบสอบถาม ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ศึกษามีทั้งหมด 425 ราย ระยะเวลากึ่งกลางการติดตามโรค(median follow-up time)=14.5ปี

ผลการศึกษาพบว่า

  • การออกกำลังกายต่อเนื่องก่อนการวินิจฉัยโรค มีผลทางสถิติช่วยเพิ่มระยะเวลาปลอดโรค แต่ไม่เพิ่มอัตรารอดชีวิต
  • การออกกำลังกายต่อเนื่องหลังการวินิจฉัยโรคและการรักษา มีผลทางสถิติเพิ่มทั้งระยะเวลาปลอดโรคและอัตรารอดชีวิต

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การออกกำลังกายอย่างเพียงพอและต่อเนื่องโดยเฉพาะภายหลังการวินิจฉัยโรคและการรักษา มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

ผู้เขียน: การศึกษาด้านโรคมะเร็งที่พบบ่อยหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้ผลตรงกันเสมอว่า การออกกำลังกายสม่ำเสมอหลังการรักษามะเร็ง และร่วมกับการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง ที่สำคัญคือ บุหรี่ สุรา สารเสพติด อาหารขยะ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งที่รวมถึง สุขภาพ ระยะเวลาปลอดโรค และอัตรารอดชีวิต

แหล่งข้อมูล:

  1. Imsamran, W. et al. 2018. Cancer in Thailand vol IX, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  2. JCO 2020; 38(24): 4107-4117