ผลกระทบต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ป่วยด้วยไวรัสตับอักเสบซี

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-418

      

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลกระทบต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ป่วยด้วยไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบซี เป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดพบเรื่อยๆ ทั่วโลกพบประมาณ 0.38%-2.3% สาเหตุติดเชื้อที่สำคัญคือจากการให้เลือด คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา นำโดย Saptaparni Ghosh จาก Clinical Investigation Program, Boston University School of Medicine, Boston, Massachusetts, USA จึงต้องการศึกษาถึงผลกระทบของการติดไวรัสตับอักเสบซีในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง The Oncologist ฉบับ 2 มิย. 2020

คณะผู้ศึกษา ได้ศึกษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลดังกล่าวโดยเป็นการศึกษาย้อนหลังจากรายงานของทะเบียนมะเร็งในผู้ป่วยตั้งแต่อายุ18ปีขึ้นไปในช่วง มค. 2000- เมย.2015 มีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมร่วมกับไวรัสตับอักเสบซี ทั้งหมด 44ราย แต่ที่มีข้อมูลที่ครบถ้วนสำหรับการศึกษานี้=6ราย และได้เปรียบเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในช่วงเวลาเดียวกันที่ได้รับยาเคมีบำบัดชนิดเดียวกันแต่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี(กลุ่มควบควบคุม)=12ราย

ข้อมูลที่ศึกษาเปรียบเทียบได้แก่ ตารางการให้ยาเคมีฯที่ล่าช้า, การต้องปรับลดขนาดยาเคมีฯ, การต้องเป็นผู้ป่วยในระหว่างเคมีบำบัด, การลดลงของเม็ดเลือดจนต้องปรับขนาดยาเคมีฯ, และการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

เมื่อเปรียบเทียบผู้ป่วยกลุ่มไม่ติดไวรัสตับอักเสบซี(กลุ่มควบคุม)กับกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี(กลุ่มศึกษา) พบว่า

  • ตารางการให้ยาเคมีฯที่ล่าช้า: กลุ่มควบคุม=33%, กลุ่มศึกษา=100%, p=0.013
  • การปรับขนาดยาลง: กลุ่มควบคุม=8%, กลุ่มศึกษา=67%, p= 0.022
  • การต้องเข้าเป็นผู้ป่วยในระหว่างเคมีบำบัด: กลุ่มควบคุม= 25%, กลุ่มศึกษา= 83%, p= 0.043
  • การลดลงของระบบเลือด/เม็ดเลือดจนต้องปรับลดขนาดยาเคมีฯ: กลุ่มควบคุม=8 %, กลุ่มศึกษา=83%, p= 0.004
  • กลุ่มควบคุมใช้ระยะเวลารักษาโรคจนครบตารางการรักษาสั้นกว่ากลุ่มศึกษา

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ผลการศึกษาพบว่า การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วยในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องได้ยาเคมีบำบัด ส่งผลข้างเคียงกระทบในด้านลบต่อการรักษา เช่น ต้องปรับลดขนาดยาเคมีฯ, ต้องเลื่อนช่วงระยะเวลาระหว่างยาเคมีฯแต่ละครั้งให้นานขึ้น, การต้องรับการรักษาแบบผู้ป่วยใน, ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบแน่ชัดถึงผลกระทบต่างๆ เพื่อนำผลมาปรับปรุงประสิทธิผลในการรักษาต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้

แหล่งข้อมูล:

  1. The Oncologist 2020; 25: 845–852