คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยพยากรณ์มะเร็งระบบทางเดินน้ำดี
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 กรกฎาคม 2564
- Tweet
มะเร็งระบบทางเดินน้ำดี หรือ มะเร็งท่อน้ำดีโดยเฉพาะท่อน้ำดีที่อยู่นอกตับ เป็นมะเร็งพบน้อยทั่วโลก แต่ประเทศไทยพบมะเร็งท่อน้ำดีตับได้สูงทางภาคตะวันออกเฉียง เหนือ มะเร็งระบบทางเดินน้ำดีมีการพยากรณ์โรคไม่ดี เพราะผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อโรคเป็นมากแล้วจากอาการของโรคในระยะแรกมักไม่ชัดเจนและไม่เฉพาะเจาะจง นอกจากนั้นยังเป็นเซลล์มะเร็งที่ดื้อต่อทั้งยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา ดังนั้นการรักษาหลักที่จะช่วยให้โรคหายคือการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกให้ได้หมดซึ่งก็ค่อนข้างยากเพราะมะเร็งชนิดนี้อยู่ติดกับอวัยวะต่างๆมากมาย เช่น ตับ ไต ตับอ่อน หลอดเลือด ต่อมน้ำเหลือง
คณะแพทย์จากประเทศอิตาลี นำโดย พญ. Caterina Vivaldi แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็งจาก Departments of a Translational Research and New Technologies in Medicine and Surgery, University of Pisa, Pisa, Italy ต้องการทราบว่า โปรตีน HER2 ซึ่งเป็นสารมะเร็งชนิดBiomarkerที่สร้างจากเซลล์มะเร็งระบบทางเดินน้ำดี สามารถใช้ช่วยพยากรณ์โรคนี้ได้หรือไม่ และอย่างไร ซึ่งได้รายงานการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง The Oncologist ค.ศ. 2020, ปีพิมพ์ 25, หน้า 886-893
การศึกษานี้ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งระบบท่อน้ำดีที่ได้รับการรักษาผ่าตัดเพื่อการหายขาดจากโรงพยาบาล University Hospital of Pisa, Pisa, ในช่วง คศ. 2006-2015ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีทั้งหมด100ราย ผู้ป่วยทุกคนดังกล่าวได้รับการตรวจหาค่า HER2 ซึ่งที่จัดว่าสูงหรือให้ผลเป็น+ คือ ‘HER2, 3+, หรือ HER2,2+ที่ตรวจซ้ำด้วยFISHและให้ผล(+), พบว่ามีทั้งหมด 11 ราย
หลังการรักษา คณะแพทย์ได้ตรวจติดตามผู้ป่วย พบว่า
• ระยะเวลาปลอดโรค(DFS: Disease free survival)ของผู้ป่วยที่มีHER2(+)เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยมีHER2(-),มีระยะเวลาสั้นกว่าอย่างสำคัญทางสถิติ, 10.6เดือน vs. 20.9เดือน, p = 0.017 และจากการศึกษาด้วยการวิเคราะห์พหุตัวแปร(multivariate analysis) ก็พบว่าHER2(+)ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทางสถิติ(p = 0.011) นอกจากนั้นปัจจัยสำคัญทางสถิติอื่นๆที่มีผลผลต่ออัตราปลอดโรคที่แย่ คือ
o การมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง, (p น้อยกว่า 0.001)
o การมีเซลล์มะเร็งตรวจพบที่ขอบแผลผ่าตัด, (p = 0.027), และ
o ตำแหน่งที่เกิดโรคที่มีผลให้ผ่าตัดยาก (p = 0.030).
• ด้านอัตรารอดชีวิต(OS: Overall survival): ไม่พบความแตกต่างอย่างสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่มีHER2(+)และกลุ่มHER2(-), p = .068
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ค่า HER2 สามารถใช้ช่วยพยากรณ์โรคมะเร็งระบบทางเดินน้ำดีที่รักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อหายขาดได้
แหล่งข้อมูล:
- The Oncologist 2020;25 (10):886-893