ผลของยาเคมีบำบัดต่อความรุนแรงของโรคโควิด-19
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 28 มิถุนายน 2564
- Tweet
เป็นที่ทราบกันดีว่า อัตราเสียชีวิตจากโรคโควิด-19(โควิด)ในผู้ป่วยมะเร็งสูงกว่าในคนทั่วไป คณะแพทย์จากโรงพยาบาลในรัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา Memorial Sloan Kettering Cancer Center นำโดย นพ. Justin Jee แพทย์อายุรกรรม จึงต้องการศึกษาว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คนไข้มะเร็งที่ติดโรคโควิดและได้รับยาเคมีบำบัดชนิดทำลายเซลล์ มีความรุนแรงของโรคโควิดสูงกว่าคนทั่วไปที่ติดโควิดรวมถึงอัตราตาย และได้รายงานผลการศึกษา ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง JCO: Journal of Clinical Oncology ฉบับ20ตุลาคม2020
การศึกษานี้ศึกษาในช่วง 31มีนาคม-13เมษายน 2020ในผู้ป่วยมะเร็งที่ติดโควิดทั้งหมด 309 รายและผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับยาเคมีบำบัดฯภายใน35วันของการได้รับวินิจฉัยว่าติดโควิดซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยจะมีผลจากยาเคมีบำบัด
ผลการศึกษาพบว่า:
- ยาเคมีบำบัดฯ: ไม่มีผลต่ออัตราส่วนความเสี่ยงอันตราย(Harzard ratio:HR)ให้โรค โควิดรุนแรงขึ้นอย่างมีความสำคัญทางสถิต(HR=1.10)
- มะเร็งระบบโรคเลือด: มีผลต่ออัตราส่วนความเสี่ยงอันตรายต่อความรุนแรงของโรคโควิดอย่างมีความสำคัญทางสถิต(HR=1.90)
- มะเร็งปอด: มีผลต่ออัตราส่วนความเสี่ยงอันตรายต่อความรุนแรงของโรคโควิดอย่างมีความสำคัญทางสถิต(HR=2.0)
- การมีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดLymphocyteต่ำ: มีผลต่ออัตราส่วนความเสี่ยงอันตรายต่อความรุนแรงของโรคโควิดอย่างมีความสำคัญทางสถิต(HR=2.10)
- ภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดNeutrophilต่ำในช่วงประมาณ14-90วันก่อนติดโควิด: เป็นปัจจัยรุนแรงที่สุดต่ออัตราส่วนความเสี่ยงอันตรายต่อความรุนแรงของโรคโควิด(HR=4.20)
- ปัจจัยต่างๆดังกล่าวยังคงความสำคัญทางสถิติในการศึกษาแบบหลายตัวแปร(multivariable model and in multiple sensitivity analyses)
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า: การศึกษานี้พบว่า ยาเคมีบำบัดฯไม่มีผลทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ติดโควิดมีอาการรุนแรงขึ้น แต่อาจเกิดจาก ปฏิกิริยาร่วมกันระหว่าง ยาเคมีบำบัดฯ, ชนิดของมะเร็ง,และตัวโรคโควิดเอง ซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนที่สมควรได้รับการศึกษาต่อไปเพื่อให้แพทย์เข้าใจและสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ติดโควิดได้อย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น
แหล่งข้อมูล:
- JCO 2020;38(30): 3538–3546(abstract)