คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยมีผลต่อการเกิดแขนบวมในการรักษามะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-413

      

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งตับด้วยรังสีรักษา

การรักษามะเร็งเต้านมในระยะรุกรานคือการรักษาที่ตัวเต้านมเองร่วมกับการรักษาต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านเดียวกับมะเร็งเต้านม ทั้งนี้การรักษาต่อมน้ำเหลืองรักแร้อาจด้วย ผ่าตัดวิธีการเดียวซึ่งก็มีหลายวิธีผ่าตัด และอาจร่วมกับการฉายรังสีรักษาที่รักแร้ ซึ่งการรักษาต่อมน้ำเหลืองรักแร้ มีผลข้างเคียงที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย คือ แขนด้านที่รักษาบวม

คณะแพทย์จากรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา นำโดยนพ. George E. Naoum แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจาก Department of Radiation Oncology, Massachusetts General Hospital, Harvard Medical School, Boston, MA จึงต้องการศึกษาว่า การรักษาต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้วยวิธีใดก่อให้เกิดแขนบวมได้ในอัตราแตกต่างกันอย่างไร, และให้ผลต่อการควบคุมโรคมะเร็งเต้านมได้ต่างกันหรือไม่, และได้รายงานการศึกษานี้ในวารสารโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา Journal of Clinical Oncology(JCO) ฉบับ 10 ตค. 2020 โดยเป็นการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในช่วงปี 2005 – 2018, ซึ่งมีผู้ป่วยที่เข้าศึกษาทั้งหมด 1,815 ราย โดยการรักษาต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้มี4วิธี คือ

  • ผ่าตัดออกต่อมน้ำเหลืองรักแร้เฉพาะต่อมฯด่านแรกที่มีมะเร็งลุกลามเข้าถึง=1340ราย
  • ผ่าตัดออกต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด่านแรกฯร่วมกับฉายรังสีรักษารักแร้=121ราย
  • ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดวิธีการเดียว= 91 ราย
  • ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดร่วมกับฉายรังสีรักษารักแร้=263ราย

ซึ่งผู้ป่วยทุกรายได้ประเมินขนาดแขนฯก่อนรักษา และประเมินต่อเนื่องเป็นระยะๆ ทั้งนี้ การศึกษานี้ให้นิยาม ‘แขนบวม หมายถึง ขนาดแขนเพิ่มขึ้นมากกว่า/เท่ากับ10%ของขนาดแขนก่อนรักษาโดยประเมินที่3เดือนหลังรักษา’ และผู้ป่วยทั้งหมดมีระยะเวลากึ่งกลางในการติดตามโรค(median follow-up time) 52.7เดือน

ผลข้างเคียงที่เกิดแขนบวม:

  • ผ่าตัดออกเฉพาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด่านแรกที่มีมะเร็งลุกลามเข้าถึง=8%
  • ผ่าตัดออกเฉพาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด่านแรกฯร่วมกับฉายรังสีรักษารักแร้=10.7%
  • ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดวิธีการเดียว=24.9%
  • ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดร่วมกับการฉายรังสีรักษารักแร้=30.1%

การศึกษาจากหลายตัวแปรร่วมกัน(Multivariable Cox models) ได้แก่ อายุ, ดัชนีมวลกาย, วิธีผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองฯ,และวิธีผ่าตัดที่เต้านม พบว่า

  • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดวิธีเดียว’ เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดแขนบวมมากกว่า ‘ผ่าตัดออกเฉพาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด่านแรกฯร่วมกับฉายรังสีรักษารักแร้’อย่างสำคัญทางสถิติ (P = .02)
  • ไม่มีความแตกต่างการเกิดแขนบวมอย่างสำคัญทางสถิติระหว่างรักษาด้วย ‘ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดวิธีเดียว’ และ ‘ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดร่วมกับฉายรังสีรักษารักแร้’ (P = 0.49)
  • ไม่มีความแตกต่างการเกิดแขนบวมอย่างสำคัญทางสถิติระหว่าง ‘รักษาด้วยผ่าตัดออกเฉพาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด่านแรกที่มีมะเร็งลุกลามเข้าถึง’ และ ‘ผ่าตัดออกเฉพาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด่านแรกฯร่วมกับฉายรังสีรักษารักแร้’ (P = 0.44) และ
  • อัตราควบคุมโรคได้ที่เต้านมและที่รักแร้ที่5ปีไม่ต่างกันทั้ง4วิธีผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้

คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า ถึงแม้การฉายรังสีที่รักแร้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดแขนบวม แต่ปัจจัยเสี่ยงหลักคือชนิดของวิธีผ่าตัดที่ใช้รักษาร่วมด้วยไม่ใช่จากรังสีรักษาวิธีการเดียว

แหล่งข้อมูล:

  1. JCO 2020; 38(29): 3430–3438(abstract)