คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการตั้งครรภ์ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่สัมพันธ์กับพันธุกรรมผิดปกติ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-411

      

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งตับด้วยรังสีรักษา

มะเร็งเต้านมสตรีในอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40ปีพบน้อยมาก เพียงประมาณ 6-7%ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด และมักสัมพันธ์กับความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้โดยเฉพาะในกลุ่ม จีน(gene) บีอาร์ซีเอ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น BRCA1, BRCA2 ซึ่งพันธุกรรมผิดปกติทั้ง2ชนิดพบได้ในคนทั่วไป แต่พบสูงในคนเชื้อชาติยิว รองลงมาคือคนผิวขาว แต่พบน้อยในคนเอเชีย

การรักษามะเร็งเต้านมปัจจุบัน นอกจากแพทย์คำนึงถึงอัตราหายขาดจากมะเร็งแล้วยังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเสมอ ซึ่งในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ40ปี เป็นวัยที่ยังสามารถตั้งครรภ์ได้ และหลายการศึกษาให้ผลตรงกันว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่อยู่ในการดูแลของแพทย์ สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่มีผลกระทบกับการพยากรณ์โรคมะเร็ง(อัตรามะเร็งเต้านมย้อนกลับเป็นซ้ำและ/หรือลุกลามแพร่กระจาย) และทารกหลังการคลอดปกติมีการเจริญเติบโตเช่นเดียวกับเด็กทั่วไปรวมถึงไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งในทารกนั้นๆ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาจริงจังในผู้ป่วยกลุ่มมีพันธุกรรมผิดปกติ BRCA1, BRCA2

คณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และอิสราเอลร่วมกัน นำโดย นพ. Matteo Lambertini จากอิตาลี Department of Internal Medicine and Medical Specialties (DiMI), School of Medicine, University of Genoa, Genoa, Italy จึงร่วมกันศึกษาถึง ผลการตั้งครรภ์ของสตรีมะเร็งเต้านมกลุ่มมีจีนผิดปกติ BRCA1, BRCA2 และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง Journal of Clinical Oncology (JCO)ฉบับวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 2020

โดยเป็นการศึกษาแบบย้อนหลังจากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของแต่ละโรงพยาบาลที่ร่วมการศึกษานี้ในช่วง มกราคม ค.ศ. 2000 - ธันวาคม ค.ศ. 2012, ได้ศึกษาผู้ป่วยสตรีมะเร็งเต้านมระยะต้นๆ ที่มีความผิดปกติของจีนBRCA,และมีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40ปี ระยะเวลากึ่งกลาง(median time)ในการติดตามผู้ป่วย=8.3ปี ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งหมดที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม BRCA=1,252 ราย

ผลการศึกษาพบว่า:

  • อัตราการตั้งครรภ์ที่10ปี= 19%, ผู้ป่วย 195ราย มีการตั้งครรภ์อย่างน้อย1ครั้ง
  • พบแพทย์แนะนำการทำแท้ง=8.2%, แท้งเอง 10.3%
  • สามารถตั้งครรภ์จนคลอดได้=76.9%(คิดเป็นจำนวนทารกทั้งหมด=170คน)
  • มีผลข้างเคียงจากการตั้งครรภ์=11.6%
  • ทารกพิการแต่กำเนิด=1.8%
  • เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยกลุ่มตั้งครรภ์กับกลุ่มไม่มีการตั้งครรภ์พบว่า
    • ไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติในอัตราปลอดโรคมะเร็ง(Disease free survival), p=0.41
    • ไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติในอัตรารอดของผู้ป่วย(Overall survival), p=0.66

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ผู้ป่วยสตรีมะเร็งเต้านมกลุ่มมีความผิดปกติทางพันธุกรรม BRCA สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของแพทย์, การตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อการพยากรณ์โรคของมะเร็งเต้านม, และไม่มีผลด้านลบต่อทารกที่คลอด, ดังนั้นการตั้งครรภ์จึงไม่เป็นอุปสรรคใดๆเมื่อผู้ป่วยประสงค์จะมีบุตรหลังครบการรักษาแล้วและแพทย์ได้ประเมินแล้วว่าผู้ป่วยสามารถมีบุตรได้

แหล่งข้อมูล:

  1. JCO 2020;38(26): 3012–3023 (abstract)