คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งตับด้วยรังสีรักษา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 พฤษภาคม 2564
- Tweet
มะเร็งตับชนิดเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อตับเอง(Hepatocellular carcinoma ย่อว่า HCC)เป็นมะเร็งตับชนิดพบบ่อยทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย(แต่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเทศไทยพบมะเร็งตับชนิดมะเร็งท่อน้ำดีตับสูงกว่า) ซึ่งการรักษาหลักของมะเร็งHCC คือ การผ่าตัด และ/หรือ การจี้ทำลายเซลล์มะเร็งด้วยคลื่นความร้อน
แต่ก็มีผู้ป่วยหลายรายที่ไม่สามารถให้การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวทั้ง2วิธีได้จากโรคลุกลามในตับมาก คณะแพทย์จากประเทศออสเตรเลีย นำโดย นพ. H.Y. Liu แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจาก Department of Radiation Oncology, Princess Alexandra Hospital, Brisbane, Australia จึงต้องการศึกษาถึงผลการรักษา HCC กลุ่มที่โรคยังจำกัดอยู่เฉพาะในตับแต่ไม่สามารถให้การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวทั้ง2วิธีได้ ด้วยการฉายรังสีแบบก้าวหน้า3มิติที่เรียกว่า Stereotactic body radiotherapy (SBRT)ที่เป็นการฉายรังสีฯปริมาณรังสีสูงมากในแต่ละครั้ง และได้รายงานผลการรักษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง Clinical Oncology ทางอินเตอร์เน็ทเมื่อ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2020
การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยช่วงเดือน ตุลาคม ค.ศ. 2013-ธันวาคม 2018= 96 ราย มีก้อนมะเร็งในตับรวม 112 ก้อน, ขนาดก้อนอยู่ในช่วง 1.5-17ซม.(ค่ากึ่งกลาง/medianของขนาด3.8ซม.), ค่ากึ่งกลางระยะเวลาติดตามโรค 13 เดือน(ช่วง 3-65เดือน), ผู้ป่วยมีตับแข็งระดับไม่รุนแรง88%ของผู้ป่วยทั้งหมด, ระดับรุนแรงปานกลาง 12%, ระยะโรคตามระบบ Barcelona Clinic Liver Cancer ระยะ0ถึง1=61%, ระยะBถึงC=39%, โรคลุกลามเข้าหลอดเลือด=21%, ทั้งนี้ปริมาณรังสีที่ใช้(BED10)ขึ้นกับขนาดของก้อนมะเร็งโดยอยู่ในช่วง60-86Gy
ผลการรักษา:
- พบไม่มีโรคลุกลามมากขึ้น(Local progression free)ที่18เดือน=94%ในโรคระยะ0/A, 74%ในระยะ B/C
- ระยะเวลาปลอดโรคลุกลาม(Progression free survival)ที่12เดือน: ในโรคระยะ 0/A =80%, โรคระยะB/C=40%
- อัตรารอดชีวิต(Survival time)ที่18เดือน: ในโรคระยะ0/A=95%, โรคระยะB/C=71%
- ผลข้างเคียงจากการรักษา(ระดับความรุนแรง Grade 1-4 ตามลำดับความรุนแรงจากน้อยไปหามาก): พบความรุนแรงระดับมากกว่า/เท่ากับGrade2=20%ของผู้ป่วย
คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า การฉายรังสีรักษา SBRT สามารถรักษาควบคุมโรคในตับได้น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถควบคุมการลุกลามของโรคนอกบริเวณฉายรังสีฯได้ จึงเห็นสมควรให้มีการรักษาวิธีการรักษาอื่นร่วมด้วยเพื่อร่วมกันช่วยควบคุมโรคทั้งในตำแหน่งโรคในตับและนอกตับ
แหล่งข้อมูล:
- Clinical Oncology. 2020; 32(10): E194-E202 (abstract).https://www.clinicaloncologyonline.net/article/S0936-6555(20)30160-6/fulltext#secsectitle0010[2021,April 19]