คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน มะเร็งปากมดลูกในสตรีอายุน้อย
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 พฤษภาคม 2564
- Tweet
มะเร็งปากมดลูกยังคงเป็นมะเร็งพบบ่อยในสตรีของทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยพบบ่อยเป็นลำดับ3 รองจากมะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ ตามลำดับ
ทั่วไปมะเร็งปากมดลูกพบสูงในสตรีอายุมากกกว่า 40 ปี(ประมาณ 50 ปี-70ปี) พบน้อยในอายุน้อยกว่า 40 ปี และยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดว่ามีความแตกต่างกันในการพยากรณ์โรคของสตรีทั้ง 2 กลุ่มอายุหรือไม่ คณะแพทย์จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศเม็กซิโก นำโดย นพ. David Isla-Ortiz จึงต้องการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกใน2กลุ่มอายุ คือกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี เปรียบเทียบกับกลุ่มอายุมากกกว่า 40 ปีว่า จะมีความแตกต่างกันในด้านอัตรารอดชีวิต(Overall survival) และ อัตราปลอดโรค(Disease free survival) หรือไม่
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบย้อนหลัง(Retrospective cohort study)จากผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในสถาบันมะเร็งแห่งชาติเม็กซิโก 2,982 ราย ในช่วงปี ค.ศ. 2005-2015 และมีค่ากึ่งกลางการติดตามผู้ป่วย(median follow-up time)ที่ 26.5 เดือน โดยได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง The Oncologist ทางอินเทอร์เนท ฉบับเดือน กันยายน ค.ศ. 2020
ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มอายุ :
- ด้าน อัตรารอดชีวิต, อัตราปลอดโรค, ระยะโรค, และชนิดย่อยทางพยาธิของมะเร็ง: ไม่มีความต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ (ค่า p มากกว่า 0.5 ทุกปัจจัย)
- และพบว่าปัจจัยต่างๆ คือ ระยะโรคที่โรคลุกลามรุนแรง, เป็นมะเร็งชนิดย่อยชนิด Neuroendocrine carcinoma, มีการบวมน้ำของไตสาเหตุจากมะเร็ง(Hydronephrosis), และมีโรคแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ, เป็นปัจจัย สำคัญเพิ่มอัตราตาย และอัตราโรคลุกลามหลังการรักษา เหมือนกันในผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มอายุ
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ โดยเฉพาะปัจจัยต่อผลการรักษาเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะนำมาพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผล
แหล่งข้อมูล:
- Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand vol ix, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- The Oncologist 2020;25:e1363–e1371: https://theoncologist.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1634/theoncologist.2019-0902 [2021,April19]