คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน สถิติตรวจคัดกรองมะเร็งโดยไม่จำเป็นในผู้สูงอายุ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 เมษายน 2564
- Tweet
ประโยชน์หลักของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคือ การช่วยลดอัตราตายของประชากรทั่วไปจากมะเร็งนั้นๆลงได้อย่างมีความสำคัญทางสถิติ ซึ่งมะเร็งที่ได้ประโยชน์เป็นที่ยอมรับของแพทย์ทั่วโลก คือ การตรวจคัดกรอง มะเร็งลำไส้ใหญ่ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ซึ่งสหรัฐอเมริกาเองก็ยอมรับในกรณีดังกล่าว และได้มีข้อกำหนดแนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งทั้ง3ชนิดเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อประชากรและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชากรที่รวมถึงของชาติต่อบริการในด้านนี้
ได้มีการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาพบว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งทั้ง3ชนิดดังกล่าวในผู้สูงอายุ กล่าวคือ ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่76ปีขึ้นไป, มะเร็งปากมดลูกที่อายุตั้งแต่66ปีขึ้นไป, และมะเร็งเต้านมที่อายุตั้งแต่75ปีขึ้นไป, จัดเป็นการตรวจคัดกรองที่ไม่จำเป็นเพราะไม่มีผลลดอัตราการตายจากมะเร็งเหล่านี้ของผู้ป่วยอย่างมีความสำคัญทางสถิติ(Overscreening) ซึ่งมักพบว่าผู้สูงอายุหลายรายได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งดังกล่าวโดยไม่จำเป็น ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน
คณะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์นำโดย Dr. Jennifer L. Moss แห่ง คณะแพทย์ Penn State College of Medicine, Hershey, Pennsylvania,สหรัฐอเมริกาจึงต้องการศึกษาว่า ในสหรัฐอเมริกามีสถิติตรวจคัดกรองมะเร็งทั้ง3ชนิดในผู้สูงอายุดังกล่าวเป็นอย่างไร และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ JAMA network Open ซึ่งเผยแพร่ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ตเมื่อ 27กรกฎาคม 2020
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ การศึกษาตามขวาง (Cross-sectional study) คือ วิเคราะห์ข้อมูลที่เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผู้สูงอายุชาวอเมริกาในเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งทั้ง3ชนิดดังกล่าวทั่วสหรัฐอเมริกาทั้งหมด 176,348 รายในปีค.ศ. 2020 โดยมี CDCของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ร่วมดำเนินการ
ผลการศึกษาพบว่า
- มากกว่า 45%ของผู้สูงอายุที่อายุสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดในการตรวจคัดกรองฯ ยังได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งทั้ง3ชนิด
- ประชากรผู้สูงอายุฯ ที่เป็นเพศหญิงที่อาศัยในเมืองใหญ่มีอัตราได้รับการตรวจคัดกรองOverscreening มะเร็งทั้ง3ชนิดสูงกว่าประชากรในชนบท
- ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม:
o Overscreening พบได้สูงในประชากรที่มีการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรที่โอกาสเข้าถึงการบริการทางการแพทย์น้อย
o Overscreening พบได้สูงกว่าในประชากรที่รู้จักดูแลสุขภาพตนเองได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรที่ใส่ใจน้อยในการดูแลสุขภาพของตนเอง
o Overscreeningพบสูงกว่าในผู้มีการศึกษาสูงกว่าระดับ High school
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า รัฐควรจะเข้ามามีส่วนรณรงค์เพื่อลด Overscreening ในมะเร็งทั้ง3ชนิดในผู้สูงอายุทั้งในระดับ ตัวประชากรเอง, ชุมชน, ระดับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข,รวมถึงในระบบสาธารณสุข เพื่อลดผลข้างเคียงจากกระบวนการตรวจคัดกรองฯ และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการดูแลสุขภาพของประชากร
แหล่งข้อมูล:
- JAMA Network Open.2020;3 (7):e2011645. https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2768709 [2021, April 18]