ผลการรักษามะเร็งในส่วนศีรษะและลำคอของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-402

      

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งในส่วนศีรษะและลำคอของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล

      

มะเร็งในส่วนศีรษะและลำคอ คือมะเร็งที่เกิดในอวัยวะส่วนต่างๆที่อยู่ในส่วนของศีรษะและลำคอ (ยกเว้น มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งสมอง, มะเร็งของระบบโรคเลือด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งกระดูก, มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน)เป็นมะเร็งพบบ่อยทั่วโลกรวมถึงของประเทศไทย ซึ่งมะเร็งในส่วนนี้เกือบทั้งหมดจะเป็นมะเร็งกลุ่มคาร์ซิโนมาชนิด สแควมัสเซลล์คาร์ซิโนมา(Squamous cell carcinoma ย่อว่า SCC) ซึ่งมะเร็งกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในโรคระยะลุกลาม การรักษาทั่วไปมักเป็นการรักษาหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ ผ่าตัดกรณีผ่าตัดได้ การฉายรังสีรักษา(ฉายแสง) และยาเคมีบำบัด

คณะแพทย์จากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล นำโดย นพ. ชาญยุทธ์ บัณฑิตวัฒนาวงศ์ภาควิชาอายุรกรรมโรคมะเร็ง ต้องการทราบถึงผลการรักษามะเร็งศีรษะและลำคอชนิดSCC ของโรงพยาบาลวชิรพยาบาลว่าเป็นอย่างไร โดยเลือกศึกษาเฉพาะตำแหน่งมะเร็งที่มีธรรมชาติของโรคคล้ายกัน คือ มะเร็งช่องปาก, มะเร็งกล่องเสียง, มะเร็งคอหอยส่วนปาก,และมะเร็งช่องคอส่วนล่าง/มะเร็งคอหอยส่วนกล่องเสียง(Hypopharynx) และได้รายงานผลศึกษาในวารสารการแพทย์ ‘จดหมายเหตุทางแพทย์ ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (Journal of the Medical Association of Thailand ย่อว่า J Med Assoc Thai)’ ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง รวบรวมผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่มีอายุตั้งแต่18ปีขึ้นไปของอวัยวะดังกล่าวในช่วง 1มกราคม 2005 ถึง 31ธันวาคม 2015 ซึ่งมีผู้ป่วยที่มีข้อมูลครบที่จะศึกษาได้ทั้งหมด 216ราย เป็นผู้ป่วยชาย 182ราย ผู้ป่วยหญิง 34ราย อายุกึ่งกลาง/มัธยฐานของอายุ/median age=58.8 ปี และ มัธยฐานระยะเวลาติดตามผู้ป่วย=51.49เดือน

ผลการศึกษาพบว่า

• ระยะโรค:

      o ระยะที่1=10.6%

      o ระยะที่2=11.6%

      o ระยะที่3=18.1%

      o ระยะที่4ที่โรคยังไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต=59.7%

• อัตรารอดชีวิตที่3ปีของมะเร็งที่ศึกษาทุกชนิดรวมกัน=52.2% โดยระยะเวลารอดชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยทุกคน =24.1เดือน

      o มะเร็งกล่องเสียงส่วนสายเสียง มีระยะเวลารอดชีวิต45เดือน

      o มะเร็งกล่องเสียงส่วนอื่น มีระยะเวลารอดชีวิต25.15เดือน

      o มะเร็งช่องปาก มีระยะเวลารอดชีวิต20.1เดือน

      o มะเร็งคอหอยส่วนปาก มีระยะเวลารอดชีวิต20.05 เดือน

      o มะเร็งคอหอยส่วนกล่องเสียง มีระยะเวลารอดชีวิต23.3 เดือน

• ระยะเวลาที่โรคสงบหลังรักษา(Progression free survival):

      o มะเร็งกล่องเสียงส่วนสายเสียง มีระยะเวลาโรคสงบ23.6เดือน

      o มะเร็งกล่องเสียงส่วนอื่น มีระยะเวลาโรคสงบ11.35 เดือน

      o มะเร็งช่องปาก มีระยะเวลาโรคสงบ12.5 เดือน

      o มะเร็งคอหอยส่วนปาก มีระยะเวลาโรคสงบ13.2 เดือน

      o มะเร็งคอหอยส่วนกล่องเสียง มีระยะเวลาโรคสงบ 15.1เดือน

• การรักษาโดยให้ยาเคมีบำบัดนำก่อนการฉายรังสีรักษาไม่ช่วยเพิ่มระยะเวลาอยู่รอดของผู้ป่วย

• พบผลข้างเคียงจากกการรักษาที่รุนแรง(ระดับ3-4)22.4%คือช่องปากอักเสบระหว่างฉายรังสีฯ

• ปัจจัยที่ทำให้เกิดการล้มเหลวในการรักษาจนถึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในระยะเวลาสั้นจากโรคมะเร็งคือ

      o มะเร็งตำแหน่งช่องปากและตำแหน่งคอหอยส่วนปาก

      o มะเร็งทุกตำแหน่งที่โรคลุกลามรุนแรงมากตั้งแต่แรกพบแพทย์(T4)

      o มะเร็งทุกตำแหน่ง ทุกระยะโรคที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาตั้งแต่ครั้งแรกของการรักษาเพื่อหวังผลให้โรคหายขาด

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการรักษาไม่ดี คือ

• โรคในระยะ T 4

• ตำแหน่งโรคเกิดที่ ช่องปาก หรือ ที่คอหอยส่วนกล่องเสียง

• โรคไม่ตอบสนองต่อวิธีรักษาเพื่อหายขาดตั้งแต่แรก

แหล่งข้อมูล:

  1. J Med Assoc Thai 2020;103(7):702-10