ผลการรักษาเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองด้วยรังสีศัลยกรรม
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 15 มีนาคม 2564
- Tweet
เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง(Meningioma)เป็นเนื้องอกทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็ง พบได้ทั้งในสมองและที่ไขสันหลัง แต่เกือบทั้งหมดพบที่สมอง เป็นเนื้องอกพบในผู้ใหญ่ พบทั้ง2 เพศ เพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชาย พบเนื้องอกนี้ได้ประมาณ 2รายต่อประชากร 1 แสนคน และพบเป็นประมาณ20%ของเนื้องอกสมองทั้งหมดทุกชนิด
ทั่วไป การรักษาเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองคือการผ่าตัด โดยผลการควบคุมโรคขึ้นกับ ผ่าตัดสมองเอาก้อนเนื้อออกได้ทั้งหมดหรือไม่ อย่างไรก็ตามมีบางตำแหน่งของสมอง/เยื่อหุ้มสมอง เช่น ที่ฐานกะโหลก หรือที่อยู่ส่วนลึกของสมอง การผ่าตัดทำได้ยาก หรือบ่อยครั้งที่สุขภาพผู้ป่วยทำให้ไม่สามารถผ่าตัดสมองได้
ปัจจุบันรวมถึงประเทศไทย มีการฉายรังสีรักษาด้วยเทคนิคก้าวหน้าที่เรียกว่า ‘รังสีศัลยกรรม(Radiosurgery ย่อว่า RS)’ ที่แพทย์สามารถให้รังสีในปริมาณสูงมากเพียงครั้งเดียว(มักสูงตั้งแต่ 8 Gy ขึ้นไป เทคนิคทั่วไปจะประมาณ 2-3Gy)ที่ส่งผลให้เซลล์เนื้องอก/เซลล์มะเร็งตายเหมือนกับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก รวมถึงด้วยเทคนิคนี้ เฉพาะก้อนเนื้อเท่านั้นที่จะได้รับปริมาณรังสีสูงแต่เนื้อเยื่อปกติจะได้รับรังสีน้อยมาก ผลข้างเคียงจากการรักษาจึงน้อยเมื่อเทียบกับการฉายรังสีวิธีปกติทั่วไป และสามารถให้รังสีเทคนิคนี้ในทุกจุดของสมองจึงสามารถใช้ทดแทนการผ่าตัดได้ ซึ่งรังสีศัลยกรรมสามารถใช้รังสีแกมมา หรือ รังสีเอกซ์จากเครื่องฉายรังสีLinacก็ได้
คณะแพทย์จากประเทศฝรั่งเศส นำโดยแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา P.Pou จาก Department of Radiation Oncology, Jean Perrin Center, Clermont-Ferrand, France จึงต้องการศึกษาว่า ในระยะยาว การฉายรังสีรักษาเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองด้วยรังสีศัลยกรรมจากเครื่องฉายLinac ให้ผลอย่างไรในด้าน การควบคุมก้อนเนื้อที่รอยโรคไม่ให้ก่ออาการ(Local control), อัตราควบคุมโรคไม่ให้ก้อนเนื้อขยายโตขึ้น(Progression free survival), อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วย, และผลข้างเคียง (Clinical Oncology 2020;32(7):452-458; abstract)
การศึกษานี้ ศึกษาผู้ป่วยเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองในส่วนของสมองทั้งหมด 60 รายในช่วงเวลาจาก กรกฎาคม 1996-พฤษภาคม 2011 ระยะเวลากึ่งกลางของการติดตามโรค(median follow-up time)=128 เดือน ซึ่งผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีที่ขอบรอยโรค=16Gy ผลการศึกษาพบดังนี้
- ผลการควบคุมก้อนเนื้อที่รอยโรคไม่ให้ก่ออาการ: ที่1ปี=100%, 5ปี=98.4%, 10ปี =92.6%
- อัตราควบคุมก้อนเนื้อไม่ให้ขยายโตขึ้น: ที่1ปี= 94.9%, 5ปี= 93.2%, 10ปี=78% และปัจจัยสำคัญในอัตราควบคุมโรคไม่ให้ขยายโตขึ้นคือ ปริมาณรังสีที่ตำแหน่งรอยโรคที่มากกว่า 10Gy (p=0.0082)
- อัตรารอดชีวิต: ที่1ปี= 100%, 5ปี= 94.7%, 10ปี = 92.7%
- ผลข้างเคียง: ไม่พบผู้เสียชีวิตที่เกิดจากผลข้างเคียงของการรักษา
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า รังสีศัลยกรรมให้ผลดีในการควบคุมก้อนเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองไม่ให้ก่ออาการในระยะยาวที่10ปีสูงมากกว่า90%, เป็นวิธีรักษาที่ปลอดภัย, และที่สำคัญ การศึกษายังพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราควบคุมโรคไม่ให้ขยายโตขึ้น ขึ้นกับปริมาณรังสีที่ตัวรอยโรคได้รับต้องไม่ต่ำกว่า10Gy
แหล่งข้อมูล:
- Clinical Oncology 2020;32(7):452-458 (abstract)