การรักษาเนื้องอกไทโมมา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-395

      

เนื้องอก/มะเร็งของต่อมไทมัสกลุ่มที่เรียกว่า Thymic epithelial tumor (รวมเนื้องอกไทโมมา และมะเร็งไทโมมา/Thymic carcinoma) มักมีธรรมชาติของโรคเป็นมะเร็ง การรักษาหลักคือ การผ่าตัด อาจร่วมกับยาเคมีบำบัดและรังสีรักษากรณีผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้ไม่หมดหรือเมื่อเซลล์ของเนื้องอกมีลักษณะเป็นเซลล์มะเร็งชัดเจนหรือกรณีผ่าตัดก้อนเนื้อไม่ได้จากก้อนเนื้อลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะในช่องอกรุนแรง ซึ่งโรคระยะผ่าตัดไม่ได้นี้มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้ในระยะเวลาสั้นๆเพียงเป็นเดือน และยังไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจนถึงประสิทธิผลการใช้รังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด ในการรักษาผู้ป่วยเนื้องอกต่อมไทมัสกลุ่มนี้

คณะแพทย์จากประเทศจีนนำโดย นพ. Yu Yang แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจาก Department of Radiation Oncology, Shanghai Cancer Center, Fudan University, Shanghai จึงได้ร่วมกันศึกษาถึงประสิทธิผลของการรักษาเนื้องอกต่อมไทมัสกลุ่ม Thymic epithelial tumor ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด โดยให้การรักษาร่วมกันระหว่างยาเคมีบำบัดกับการฉายรังสีรักษา และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง International Journal of Radiation Oncology Biology &Physics ฉบับ 1 พฤษภาคม 2020

ทั้งนี้ เป็นการศึกษาทางการแพทย์แบบล่วงหน้าระยะที่2/Prospective study (phase2=การศึกษาโดยไม่ใช้วิธีสุมตัวอย่างผู้ป่วย และเพียงเพื่อดูประสิทธิผลของวิธีรักษาในด้านการควบคุมโรคและผลข้างเคียง) ซึ่งการฉายรังสีรักษาใช้เทคนิค3มิติที่เรียกว่าไอเอมอาร์ที(IMRT)รวมกับยาเคมีบำบัด(CT)2ชนิดร่วมกันคือ ยา etoposide และ cisplatin (ย่อว่าEP)โดยเริ่มให้ยา EP 2 รอบ(Cycle)ไปพร้อมๆกับฉายรังสีรักษาจนครบ(concurrent CT-IMRT)และหลังครบการฉายรังสีฯแล้วฯจึงให้ยาเคมีฯEPตามอีก2รอบ

ทั้งนี้ได้ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทมัสกลุ่มดังกล่าวในช่วงค.ศ. 2011-2018ทั้งหมด 56 ราย(เนื้องอกไทโมมา22ราย,มะเร็งไทโมมา34ราย) ระยะกึ่งกลางอายุผู้ป่วย(median age=52ปี, ช่วง 21-76ปี), 53.6%(30ราย)เป็นเพศชาย ที่เหลือเป็นเพศหญิง, 14.3%เป็นโรคระยะ3, 10.7%เป็นระยะ4A, 75%เป็นระยะ4B ทั้งนี้ระยะกึ่งกลางการติดตามผู้ป่วย(median follow-up time)= 46เดือน(ช่วง7-101เดือน) ซึ่งผลการรักษา:

• ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง= 85.7%

• อัตราควบคุมโรคไม่ให้ลุกลาม(progression-free survival rate):

      o ที1ปี=66.1%

      o ที่2ปี=48.0%

      o ที่3ปี=29.5%

• อัตรารอดชีวิต:

      o ที่1ปี=91.0%

      o ที่2ปี=76.2%

      o ที่3ปี=56.2%

• ผลข้างเคียงที่รุนแรง(grade3,4) คือ

      o เม็ดเลือดขาวต่ำ=42.9%

      o เกิดมีพังผืดในปอด=5.3%

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การรักษาเนื้องอก/มะเร็งต่อมไทมัสกลุ่ม Thymic epithelial tumor ระยะที่ผ่าตัดไม่ได้ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด EP ร่วมกับการฉายรังสีรักษาเทคนิคIMRT ให้ผลการควบคุมรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิผลและมีผลข้างเคียงในระดับยอมรับได้

ผู้เขียน: ยาเคมีบำบัดทั้ง2ชนิดรวมทั้งการฉายรังสีรักษาเทคนิคIMRT มีใช้เป็นมาตรฐานอยู่แล้วในประเทศไทย แต่มักมีใช้อยู่เฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งของกระทรวงสาธารณสุข

แหล่งข้อมูล:

  1. International Journal of Radiation Oncology Biology &Physics 2020;107(1): 98-105 (abstract)