คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งตับด้วยรังสีรักษา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-393

      

มะเร็งตับชนิดพบบ่อยในยุโรปคือมะเร็งตับชนิดเกิดโดยตรงจากเซลล์ตับที่เรียกว่า ‘มะเร็งตับเอชซีซี(HCC= Hepatocellular carcinoma)’ ซึ่งการรักษาหลักเพื่อรักษาให้หายของมะเร็งชนิดนี้ คือ การผ่าตัดตับที่อาจร่วมกับการปลูกถ่ายตับ และกรณีผ่าตัดไม่ได้จะให้การรักษาโดยทำลายก้อนมะเร็งด้วยคลื่นความถี่สูง(RFA=Radiofrequency ablation), หรือ การรักษาทางรังสีร่วมรักษาที่ใส่สายสวนเข้าหลอดเลือดที่เลี้ยงก้อนมะเร็งเพื่อให้ยาเคมีบำบัดปริมาณสูงต่อก้อนมะเร็งโดยตรงหรือเพื่อใส่สารอุดตันหลอดเลือดที่เลี้ยงก้อนมะเร็งเพื่อให้เซลล์มะเร็งขาดเลือดเลี้ยงจนตายในที่สุด, ส่วนการฉายรังสีรักษาด้วยเทคนิคที่ฉายรังสีเข้าสู่ก้อนมะเร็งครอบคลุมทุกทิศทางและครอบคลุมเฉพาะรอยโรคที่เรียกว่า เทคนิค สะเตอริโอแทคติค(เอสบีอาร์ที/SBRT=Stereotactic body radiation therapy )ซึ่งเทคนิคนี้จะทำให้ก้อนมะเร็งได้รับปริมาณรังสีสูงมากในระยะเวลารักษาสั้นๆ3-5วันส่งผลให้ประสิทธิผลการควบคุมมะเร็งสูงมากขึ้น นอกจากนั้นเทคนิคนี้ยังช่วยให้เนื้อเยื่อปกติได้รับรังสีน้อยมากๆจึงช่วยลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากรังสีฯลงได้อย่างมีประสิทธิผลเช่นกัน

แต่ปัจจุบัน การรักษา มะเร็งตับเอชซีซีเพื่อการรักษาหายด้วยรังสีรักษาเทคนิค เอสบีอาร์ทียังไม่มีการศึกษาแบบล่วงหน้าที่ชัดเจน คณะแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆในประเทศฝรั่งเศส นำโดย นพ. Jerome Durand-Labrunie แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจาก Department of Radiotherapy, Institut Gustave Roussy, Villejuif จึงต้องการทราบถึงผลการรักษามะเร็งตับเอชซีซีที่รอยโรคยังจำกัดอยู่เฉพาะตับแต่ผ่าตัดไม่ได้และแพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะกับวิธีรักษาอื่นๆดังได้กล่าวในตอนต้น ด้วยการฉายรังสีเทคนิคเอสบีอาร์ที/SBRTหวังผลรักษาให้หายจากโรค และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง International Journal of Radiation Oncology Biology &Physics ฉบับ 1พฤษภาคม 2020

โดยเป็นการศึกษาแบบล่วงหน้าระยะที่2/Prospective phase 2 trial (การศึกษาเพื่อดูประสิทธิผลของการรักษาทั้งในด้านควบคุมโรคและผลข้างเคียง แต่ไม่ใช่การสุ่มตัวอย่างผู้ป่วย)ในผู้ป่วยมะเร็งตับเอชซีซีจากหลายโรงพยาบาลในฝรั่งเศส โดยเป็นโรคที่มีก้อนมะเร็งเพียงก้อนเดียวและจำกัดอยู่เฉพาะตับและไม่สามารถใช้วิธีต่างๆดังกล่าวข้างต้นรักษาได้จากข้อจำกัดด้านสุขภาพผู้ป่วยหรือตำแหน่งรอยโรค ซึ่งมีผู้ป่วยศึกษาทั้งหมด 43 ราย ก้อนมะเร็งมีขนาด 1-6 ซม. ปริมาณรังสีSBRT คือ 45 Gy ใน3วัน/ครั้ง โดยระยะเวลากึ่งกลางในการติดตามผู้ป่วย(median follow-up time)=4ปี (ช่วง1.2-4.6 ปี)

ผลการรักษาพบว่า

      • ผู้ป่วยทุกคนมีตับแข็งร่วมด้วยอยู่ก่อนแล้ว และทุกคนไม่เคยได้รับการรักษาด้วยวิธีรักษามะเร็งตับวิธีอื่นๆดังกล่าวในตอนต้นมาก่อน

      • ผลข้างเคียงที่พบคือ

            o มีผลข้างเคียงเฉียบพลัน 31%

            o มีการทำงานของตับผิดปกติ19%

      • ผลการควบคุมโรคที่ 18 เดือน:

            o สามารถควบคุมรอยโรคที่ตับได้ 98%

            o อัตรารอดชีวิต=72%

      • ระยะเวลากึ่งกลางของการรอดชีวิต(median overall survival time)=3.5 ปี

คณะผู้ศึกษาสรุปผลว่า SBRT ให้ผลการรักษาที่ดีในกลุ่มผู้ป่วยะเร็งตับเอชซีซีที่ไม่สามารถรักษาเพื่อให้หายด้วยวิธีมาตรฐานได้ ดังนั้นSBRTจึงสามารถใช้เป็นวิธีรักษาเพื่อรอคอยคิวการปลูกถ่ายตับ และยังสมารถใช้เป็นวิธีรักษากรณีผู้ป่วยไม่สามารถปลูกถ่ายตับได้อีกด้วย

ผู้เขียน: วิธีต่างๆที่ใช้รักษามะเร็งตับเอชซีซีรวมถึงการปลูกถ่ายตับ ดังได้กล่าวในตอนต้นที่รวมทั้งการฉายรังสีรักษาเทคนิคเอสบีอาร์ที/SBRT มีใช้กันเป็นมาตรฐานอยู่แล้วในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของประเทศเรา เช่น โรงเรียนแพทย์ต่างๆ

แหล่งข้อมูล:

  1. International Journal of Radiation Oncology Biology &Physics 2020;107(1):116-125 (abstract)