คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนผลของรังสีต่อสมองเมื่อรักษาเนื้องอกสมองด้วยรังสีรักษา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 11 มกราคม 2564
- Tweet
เนื้องอกสมองมีวิธีรักษาหลักคือ ผ่าตัด แต่ในผู้ป่วยหลายรายจะมีการให้รังสีรักษาร่วมด้วยในหลายกรณี เช่น เป็นเนื้องอกชนิดผ่าตัดไม่ได้, เป็นเนื้องอกชนิดมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำสูงหลังผ่าตัด, กลุ่มที่โรคย้อนกลับเป็นซ้ำตั้งแต่ 1-2ครั้งขึ้นไป
คณะแพทย์จาก Department of Oncology, Aarhus University Hospital, Aarhus ประเทศเดนมาร์ก นำโดย นพ. Lene Haldbo-Classen จึงต้องการศึกษาผลข้างเคียงของระดับปริมาณรังสีต่างๆที่สมองในส่วนต่างๆของผู้ป่วยแต่ละรายได้รับโดยเฉพาะสมองส่วนฮิปโปแคมพัส(สมองส่วนเกี่ยวข้องกับความจำและการตระหนักรู้)ว่ามีผลกระทบต่อความจำและการตระหนักรู้(Cognitive function)ของผู้ป่วยหรือไม่ และได้รายงานผลศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง Radiotherapy and Oncology ฉบับ 1 กรกฎาคม 2020
โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยเนื้องอกสมองที่ได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษาจากโรงพยาบาลดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด 78 ราย
ผลการศึกษาพบว่า
ไม่ใช่เพียงแต่สมองส่วนฮิปโปแคมพัสเท่านั้น เนื้อสมองส่วนต่างๆที่ได้รับปริมาณรังสีที่สูงก็จะส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยมีปัญหาในด้านความจำและการตระหนักรู้อย่างมีความสำคัญทางสถิติเช่นกันโดยเฉพาะสมองด้านซ้าย เพียงแต่อาจแตกต่างกันในอาการ เช่น ผลกระทบต่อสมองส่วนฮิปโปแคมพัสด้านซ้ายจะเป็นเรื่องความจำและการพูด ในขณะที่ผลกระทบต่อสมองส่วนธาลามัสและสมองส่วนหน้าด้านซ้ายจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ เป็นต้น
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ปริมาณรังสีที่สูงต่อเนื้อสมองส่วนฮิปโปแคมพัสและสมองส่วนต่างๆจะมีผลกระทบต่อความทรงจำและการตระหนักรู้ของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดของการศึกษานี้คือ เป็นการศึกษาย้อนหลัง ดังนั้นเพื่อยืนยันผลการศึกษานี้ว่าเป็นจริง คณะผู้ศึกษาจึงแนะนำว่าควรต้องมีการศึกษายืนยันอีกครั้งด้วยการศึกษาแบบล่วงหน้า
แหล่งข้อมูล:
- Radiotherapy and Oncology 2020;148:1-7 (abstract)