คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ภาวะเกิดกระดูกหักในมะเร็งกระดูกมีผลต่อการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 23 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
มะเร็งกระดูกทั่วไปเป็นมะเร็งพบน้อย เกือบทั้งหมดเป็นมะเร็งชนิดOsteosarcoma ดังนั้นทั่วไปเมื่อกล่าวถึงมะเร็งกระดูกจะหมายถึงมะเร็งชนิดนี้ มะเร็งชนิดนี้ส่วนใหญ่พบในคนอายุตั้งแต่18 ปีลงมา หรือกล่าวว่าเป็นมะเร็งในเด็ก/วัยรุ่น พบในผู้ใหญ่ได้น้อยกว่ามากๆ มะเร็งชนิดนี้โดยเฉพาะเมื่อมีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งสูง(High grade osteosarcoma) จะพบร่วมกับมีกระดูกตรงรอยโรคหักได้
คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากยุโรป(EU)นำโดยกุมารแพทย์ พญ.
Lisa Marie Kelley จากเยอรมันนี, Kinderklinik München Schwabing, Technical University of Munich School of Medicine, Munich จึงต้องการศึกษาเพื่อให้ทราบว่าการเกิดกระดูกหักในมะเร็งกระดูกOsteosarcomaชนิดเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูงนี้ส่งผลต่อการพยากรณ์โรคอย่างไร? และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง Journal of clinical oncology ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2020
โดยเป็นการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งกระดูกกลุ่มดังกล่าวที่มีรอยโรคเกิดที่แขน หรือขา 2,847 รายจากข้อมูลทางการแพทย์ the Consecutive Cooperative Osteosarcoma Study Group ในช่วง 1980-2010 ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดนำก่อน จากนั้นจึงผ่าตัดก้อนเนื้อออก แล้วจึงให้การรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด เป็นผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 18 ปีลงมา(ต่อไปขอเรียกว่าผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น) 2,193 ราย, ที่เหลือเป็นผู้ป่วยอายุมากกว่า 18ปี (ต่อไปขอเรียกว่าผู้ป่วยผู้ใหญ่) โดยผู้ป่วยที่ศึกษาทั้งหมดพบมีกระดูกหักที่รอยโรค=11.3%
ผลการศึกษา:
- การศึกษาทางสถิติโดยหลายตัวแปร(Multivariate analysis)ในผู้ป่วยรวมทุกอายุ: ไม่พบความต่างกันทางสถิติในการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยที่มีกระดูกหักหรือไม่มีกระดูกหัก ทั้งใน อัตรารอด(Overall survival)ที่5ปี, และในอัตราปลอดโรค(Event free survival)ที่5ปี
- เมื่อแยกเป็นในเด็กและวัยรุ่น: การศึกษาทางสถิติโดยหลายตัวแปร ไม่พบความต่างกันทางสถิติของผู้ป่วยที่มีกระดูกหักหรือไม่มีกระดูกหัก ทั้งใน อัตรารอด(Overall survival)ที่5ปี, และในอัตราปลอดโรค(Event free survival)ที่5ปี
- เมื่อแยกเป็นในผู้ใหญ่: การศึกษาทางสถิติโดยหลายตัวแปรพบว่า
- การมีกระดูกหัก มีผลลดอัตรารอดที่5ปีอย่างสำคัญทางสถิติ, p=0.013
- แต่การมีกระดูกหักไม่มีผลต่ออัตราการปลอดโรคที่5ปี, p=0.236
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกกลุ่มเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง การมีกระดูกหักที่รอยโรคในผู้ป่วยผู้ใหญ่มีผลต่อการพยากรณ์โรคโดยเป็นปัจจัยสำคัญทางสถิติลดอัตรารอดที่5ปี, แต่ไม่พบมีผลต่อการพยากรณ์โรคผู้ป่วยกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
แหล่งข้อมูล:
- JCO 2020;38(8):823-833(abstract)