คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิ้นระยะต้นที่ระยะ10ปี

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-383

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิ้น เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองพบบ่อยในผู้ป่วยอายุน้อยทั้งชายและหญิง โรคในระยะแรก(ระยะที่1และระยะที่2) มีวิธีรักษาหลัก 3 วิธีคือ การฉายรังสีรักษาเพียงวิธีเดียว, ให้ยาเคมีบำบัดวิธีการเดียว, และการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับ ฉายรังสีรักษาในเนื้อที่และปริมาณรังสีน้อยกว่าการฉายรังสีรักษาเพียงวิธีเดียว

คณะแพทย์แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาและนักวิทยาศาสตร์จาก Department of Radiation Oncology, University of Florida, Gainesville ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. James E. Bates จึงได้ศึกษาถึงอัตรารอดชีวิตในระยะยาวของผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้ที่ใช้วิธีรักษาต่างกันดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร และได้รายงานผลการรักษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง the International journal of radiation oncology biology and physics ฉบับ online เมื่อ 12 มีนาคม 2020

ผลการศึกษาพบว่า จากข้อมูลของสำนักสถิติแห่งชาติด้านโรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา (SEER database) ในจำนวนผู้ป่วยที่รอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฮอดจ์กิ้นระยะที่1,2 ทั้งหมด 10,443 คน(ผู้ป่วยช่วงปี 1983 and 2006) มีระยะกึ่งกลางรอดชีวิต(median survival time)=16.1ปี, มีอัตรารอดชีวิต(overall survival)ที่ 10 ปี โดย

  • 33.6% ได้รับยาเคมีบำบัดวิธีการเดียว
  • 23.8% ได้รับรังสีรักษาเพียงวิธีการเดียว
  • 42.6% ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษาฯร่วมกัน
  • การรักษาด้วยวิธีร่วมกัน ให้อัตรารอดชีวิตสูงกว่าการใช้ยาเคมีบำบัดวิธีการเดียวอย่างมีความสำคัญทางสถิติ, p น้อยกว่า 0.01
  • การรักษาวิธีร่วมกัน ให้อัตรารอดชีวิตสูงกว่าการฉายรังสีรักษาวิธีการเดียวอย่างมีความสำคัญทางสถิติ, p น้อยกว่า 0.01

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ที่ระยะเวลายาวนาน 10 ปีของการติดตามผลการรักษา การให้ยาเคมีบำบัดร่วมการฉายรังสีรักษาในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิ้น ระยะที่1,2 เป็นวิธีที่ให้อัตรารอดชีวิตที่สูงกว่าอย่างมีความสำคัญทางสถิติ

แหล่งข้อมูล:

  1. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0360301620308968 [2020,Oct20]