คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เป้าหมายขององค์การอนามัยโลกในการควบคุมมะเร็งปากมดลูกในประเทศประชากรมีรายได้ต่ำ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-379

มะเร็งในผู้หญิงที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำ ซึ่งรวมถึงที่มีรายได้ต่ำปานกลาง คือ มะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบบ่อยมากในประเทศดังกล่าว มักพบเป็นลำดับ1 นำหน้ามะเร็งเต้านม โดยในปี ค.ศ. 2018 ทั่วโลกมีรายงานเกิดโรคนี้ 570,000 ราย และอัตราเสียชีวิตคือ 300,000 ราย

ปัจจุบัน มะเร็งปากมดลูกมีคุณสมบัติ 3 ประการ ที่ควรทำให้เป็นมะเร็งที่น่าควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผล คือ

  • สาเหตุเกิดโรคนี้ที่สำคัญคือ การติดไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือไวรัส HPV ที่ปัจจุบันมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันมะเร็งนี้ได้ประมาณ70% โดยสามารถป้องกัน HPV สายพันธ์ย่อยที่เป็นสาเหตุมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 7 สายพันธ์ย่อย คือ 16, 18, 31, 33, 45, 52, และ 58 โดยสายพันธ์หลักที่ก่อมะเร็งนี้บ่อยที่สุดคือสายพันธ์ 16 และ18
  • เป็นโรคมีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคได้ตั้งแต่ในระยะแรกและในระยะก่อนเป็นมะเร็ง(มะเร็งระยะศูนย์) ซึ่งโรคในระยะเริ่มแรกนี้มีอัตรารักษาหายสูง 90-100%
  • การรักษามะเร็งปากมดลูกในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพสูงมาก โดย การผ่าตัด รังสีรักษา และ ยาเคมีบำบัด

ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงได้ทำการศึกษาในการลดอัตราเกิดมะเร็งนี้ และผลจากการศึกษา ทำให้ตั้งเป้าหมายว่า องค์การอนามัยโลกน่าจะดำเนินการสนับสนุนให้ประเทศต่างๆในกลุ่มดังกล่าวสามารถควบคุมมะเร็งปากมดลูกได้ โดยการควบคุมโรคจะดำเนินการ ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศต่างๆดังกล่าวเข้าถึงทั้ง 3 ประการดังที่ได้กล่าวไปแล้วพร้อมๆกัน และคาดว่า ถ้าลงมือดำเนินการตั้งแต่ปีนี้ (ค.ศ. 2020) จะสามารถลดอัตราเกิดมะเร็งปากมลลูกลงได้ประมาณ

  • 33.9% ในปี ค.ศ. 2030
  • 96.2% ในปี ค.ศ. 2070 และ
  • 98.6% ในปี ค.ศ. 2120

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ตีพิมพ์เผยแพร่การศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ Lancet เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2020

แหล่งข้อมูล:

  1. Lancet. 2020; 395 (10224):591-603 (abstract)
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cervical_cancer [2020,Sept14]