คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษาเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองชนิดร้ายแรง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-378

เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง(Menigioma) เป็นเนื้องอกพบเรื่อยๆ เป็นโรคของผู้ใหญ่ พบในเด็กได้น้อยมากๆ การรักษาหลักคือการผ่าตัดวิธีการเดียว เป็นเนื้องอกมีการพยากรณ์โรคที่ดี แพทย์มักรักษาควบคุมโรคได้ดี โรคมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำประมาณ 20-30%ในระยะเวลา10ปีเมื่อแพทย์ผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมด แต่เนื้องอกเยื่อหุ้มสมองอีกกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงในการย้อนกลับเป็นซ้ำและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตภายในระยะเวลา3ปี คือกรณี

  • แพทย์ผ่าตัดออกได้ไม่หมด
  • เคยมีการย้อนกลับเป็นซ้ำมาแล้ว และ/หรือ
  • เป็นชนิดเซลล์เนื้องอกมีการแบ่งตัวสูง(Grade3)

ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการย้อนกลับเป็นซ้ำดังกล่าว จะส่งผลต่อเนื่องให้โรคย้อนกลับเป็นซ้ำสูงในระยะเวลา3ปี รวมถึงส่งผลให้อัตรารอดชีวิตต่ำลง แพทย์หลายท่านจึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้รักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดด้วยการฉายรังสีรักษาที่ปัจจุบันเป็นการรักษาแบบ3มิติที่จะช่วยเพิ่มปริมาณรังสีให้สูงขึ้นโดยมีผลข้างเคียงจากรังสีอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสควบคุมโรคได้สูงขึ้นและคุณภาพชีวิตดีขึ้น

คณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกาในสมาคมการแพทย์โรคมะเร็ง NRG Oncology/RTOG 0539 นำโดย นพ. C. Leland Rogers แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจาก St. Joseph’s Hospital and Medical Center, Phoenix, Arizona ได้ร่วมกันศึกษาถึงผลการรักษา ผู้ป่วยเนื้องอกกลุ่มปัจจัยเสี่ยงสูงฯด้วยการฉายรังสีรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัด โดยเป็นการฉายรังสีเทคนิค 3 มิติที่เรียกว่า IMRT ใช้ปริมาณรังสีทั้งหมด 60 Gy (ฉายทั้งหมด30ครั้ง) และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง International Radiation Oncology Biology & Physics ฉบับ 15 มีนาคม 2020

การศึกษานี้เป็นการศึกษาทางการแพทย์ระยะ2(phase2)เพื่อประเมินผลการควบคุมโรคไม่ให้ย้อนกลับเป็นซ้ำและผลข้างเคียงจากการรักษา โดยศึกษาผู้ป่วยทั้งหมด 53 รายที่แพทย์สามารถติดตามผลได้นานตั้งแต่3ปีขึ้นไป (ระยะกึ่งกลาง/median=4ปี, ระยะเวลารอดชีวิต=4.8ปี) ผลการศึกษาพบว่า

  • อัตราควบคุมโรคได้ที่3ปี = 58.8%
  • อัตรารอดชีวิตที่3ปี = 78.6%
  • อัตราเสียชีวิตจากผลข้างเคียงของรังสี=1ราย(1.9%) จากเนื้อสมองที่ได้รับรังสีเกิดการตาย

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การฉายรังสีรักษาตามหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงสูงฯมีประโยชน์ช่วยในการควบคุมโรคได้ จึงสมควรที่จะทำการศึกษาเปรียบเทียบในระยะ3ต่อไป เพื่อประเมินว่า การรักษานี้จะได้ประโยชน์อย่างแน่ชัดจนสามารถแนะนำเป็นการรักษามาตรฐานได้หรือไม่

แหล่งข้อมูล:

  1. International Radiation Oncology Biology&Physics 2020; 106(4): 790–799 (abstract)