คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลกระทบต่ออัตราอยู่รอดของระยะเวลาห่างกันระหว่างการฉายรังสีรักษากับการผ่าตัดในมะเร็งไส้ตรง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-376

ไส้ตรง คือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ที่จะต่อไปเป็นทวารหนัก ดังนั้นมะเร็งไส้ตรงจึงจัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง(Colorectal cancer) ซึ่งมะเร็งไส้ตรงเป็นมะเร็งพบบ่อยใกล้เคียงกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคของผู้ใหญ่ แต่โรคมักลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานสูงกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่มาก การรักษาจึงมักเป็นการฉายรังสีรักษาร่วมกับการผ่าตัดและอาจร่วมกับการทำทวารเทียม รวมถึงถ้าฉายรังสีฯก่อนผ่าตัดจะช่วยให้ก้อนมะเร็งขนาดเล็กลงจนช่วยให้การผ่าตัดสามารถเก็บทวารหนักบางส่วนไว้ได้จนลดการทำทวารเทียมลงได้มากกว่า80%ของผู้ป่วย ซึ่งการไม่มีทวารเทียมจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งไส้ตรงเป็นอย่างมาก

การฉายรังสีรักษาในมะเร็งไส้ตรง มักเป็นการฉายนำก่อนการผ่าตัด และมีได้ทั้งการฉายเทคนิคมาตรฐานโดยใช้ระยะเวลาฉายนาน 5-5.5 สัปดาห์(ประมาณ 25-28 ครั้ง) แต่เพื่อความสะดวกของผู้ป่วยซึ่งจะมีมาตรฐานว่า การผ่าตัดควรทำหลังครบการฉายรังสีประมาณ 3-5 สัปดาห์

แต่ปัจจุบันบางโรงพยาบาลหลายโรงพยาบาลทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้ปรับเทคนิคมาตรฐานการฉายรังสีฯ โดยปรับเปลี่ยนมาฉายในระยะเวลาที่สั้นลง(การฉายรังสีฯระยะสั้น)คือ 1สัปดาห์(5วันติดต่อกัน) ซึ่งเทคนิคนี้ยังไม่มีการศึกษาชัดเจนว่า ควรผ่าตัดตามหลังการฉายรังสีฯในระยะเวลานานเท่าไรจึงจะมีประสิทธิผลในการควบคุมมะเร็งและไม่เพิ่มผลข้างเคียงจากการผ่าตัด

การศึกษานี้มาจากคณะนักวิทยาศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Leeds Institute for Data Analytics, University of Leeds, Leeds, UK นำโดย B.A. Levick ที่ต้องการเปรียบเทียบระยะเวลาช่วงต่างๆที่ห่างกันระหว่างครบฉายรังสีฯกับการผ่าตัดว่ามีผลอย่างไรต่อผลการรักษามะเร็งไส้ตรงที่รักษาโดยฉายรังสีฯระยะสั้นร่วมกับการผ่าตัด ซึ่งการศึกษานี้รายงานผลทางอินเทอร์เน็ท ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง Clinical Oncology ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020

โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังจากข้อมูลของ the English National Health Service ระหว่าง เมษายน 2009 ถึง ธันวาคม 2014 ในมะเร็งไส้ตรงที่ได้รับการฉายรังสีรักษาฯนำก่อนและตามด้วยการผ่าตัด ทั้งหมด 3,469 ราย และติดตามผลการรักษาได้อย่างน้อยนาน 1 ปี โดย

  • กลุ่ม1: 76%ของผู้ป่วย ผ่าตัดในช่วง 0–7วันหลังครบการฉายรังสีฯ
  • กลุ่ม2: 19%ของผู้ป่วย ผ่าตัดในช่วง 8-14วันหลังครบการฉายรังสีฯ
  • กลุ่ม3: 5%ของผู้ป่วย ผ่าตัดในช่วง 15-27วันหลังครบการฉายรังสีฯ

ผลการศึกษาที่ 1ปี พบว่า ไม่มีความต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว ในด้าน

  • อัตราตายภายใน 30 วันหลังผ่าตัด
  • อัตราตายที่ 1 ปี หลังผ่าตัด
  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด
  • ผลข้างเคียงและอัตราตายในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ เปรียบเทียบกับ วัยผู้ใหญ่ทั่วไป

คณะผู้ศึกษา สรุปว่า ระยะเวลาผ่าตัดหลังครบการฉายรังสีรักษาระยะเวลาสั้นในการรักษามะเร็งไส้ตรง ในช่วง 1-27วัน ไม่ต่างกันในด้านผลข้างเคียงจากการผ่าตัด และ/หรืออัตราตายที่ 30วัน และที่ 1 ปี หลังผ่าตัด

แหล่งข้อมูล:

  1. B.A. Levick. et al. Clinical Oncology 2020; 32: e46-e52