คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ความแม่นยำในการพยากรณ์อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะโรคแพร่กระจายทางกระแสเลือด

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-372

เรื่องเล่านี้ เป็นการศึกษาความแม่นยำของรังสีรักษาแพทย์ในการพยากรณ์ระยะเวลาอยู่รอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะมีโรคแพร่กระจายทางกระแสเลือดที่ได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษา เพื่อประเมินว่าแพทย์ฯสามารถพยากรณ์ระยะเวลารอดชีวิตของผู้ป่วยได้แม่นยำเพียงใด และปัจจัยอะไรที่ทำให้การพยากรณ์ของแพทย์แม่นยำ

การศึกษานี้โดยคณะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์จากหน่วยงานรังสีรักษาจากสแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา(Radiation Oncology Department, Stanford Cancer Institute, Stanford, California) นำโดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Kathryn R.K. Benson และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ International Radiation Oncology Biology and Physics ฉบับ 1 มกราคม ค.ศ. 2020 เป็นการศึกษาในช่วง มีนาคม ค.ศ. 2015 –พฤศจิกายน ค.ศ.2016 ศึกษาจากแพทย์รังสีรักษา 22 คน โดยเป็นการพยากรณ์ทั้งหมด 877 ครั้งในผู้ป่วยมะเร็ง 689 คน

ผลการศึกษาพบว่า

  • แพทย์รังสีรักษา สามารถพยากรณ์ระยะเวลาอยู่รอด ได้ดังนี้
    • 39.7% พยากรณ์ได้ถูกต้อง 39.7%
    • พยากรณ์ระยะเวลาอยู่รอดได้ต่ำเกินไป 26.5%
    • พยากรณ์ระยะเวลาอยู่รอดได้นานเกินไป 33.8%
  • ปัจจัยที่ช่วยให้การพยากรณ์แม่นยำ คือ การพยากรณ์จากสุขภาพร่างกายผู้ป่วยด้วยการประเมินจากค่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เรียกว่า Karnofski performamnce status (KPS)
  • ปัจจัยที่ไม่สามารถใช้เป็นตัวพยากรณ์ฯได้แม่นยำคือ
    • อายุผู้ป่วย
    • เชื้อชาติ
    • ชนิดของมะเร็ง
    • ตำแหน่งที่โรคแพร่กระจาย
    • อายุการทำงานของรังสีรักษาแพทย์

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า น่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมว่า การพยากรณ์โรคฯ มีผลต่อวิธีรักษามะเร็งหรือไม่ และควรมีวิธีการใดที่จะช่วยให้การพยากรณ์โรคแม่นยำได้มากกว่านี้

แหล่งข้อมูล:

  1. International Radiation Oncology Biology and Physics 2020; 106(1): 52-60