คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลกระทบด้านจิตใจของมารดาและพี่น้องของเด็กโรคมะเร็ง
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 สิงหาคม 2563
- Tweet
ทุกคนตระหนักดีว่า เมื่อมีเด็ก/ลูกในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็ง ครอบครัวทุกคนจะได้ผลกระทบร่วมด้วยเสมอโดยเฉพาะมารดาและเด็กพี่น้องของเด็กป่วย แต่ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ชัดเจนในเรื่องผลกระทบนี้
คณะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์จาก โรงพยาบาล The Hospital for Sick Children, Toronto, Ontario ประเทศแคนาดา นำโดยนักวิทยาศาสตร์ ชื่อ Jacqui van Warmerdam จึงต้องการศึกษาว่า มารดาและพี่น้องของเด็กโรคมะเร็งได้รับผลกระทบต่างจากมารดาและเด็กพี่น้องครอบครัวทั่วไปหรือไม่ และได้ตีพิมพ์การศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ Journal of Clinical Oncology (ย่อว่า JCO) ฉบับวันที่ 1มกราคม2020
โดยเป็นการศึกษาช่วงปี ค.ศ. 1998-2014 เปรียบเทียบระหว่างมารดาและพี่น้องเด็กป่วยฯ จากข้อมูลของ A provincial childhood cancer registry in Ontario, Canada และข้อมูลของมารดาและเด็กในครอบครัวทั่วไป จาก Health Service โรงพยาบาลในรัฐ Ontario โดยพบว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีมารดาเด็กป่วยฯ= 4,773 ราย และมีพี่น้องเด็กป่วยฯ= 7,897 ราย ซึ่งเปรียบเทียบกับครอบครัวกลุ่มควบคุมในช่วงเวลาเดียวกันและในจำนวนใกล้เคียงกัน
ผลการศึกษาพบว่า
- มารดาเด็กป่วยฯ มีการพบแพทย์แบบผู้ป่วยนอกทั้งแพทย์ทั่วไปและจิตแพทย์สูงกว่ามารดาเด็กทั่วไปอย่างสำคัญทางสถิติ (p<0.0001)
- เด็กพี่น้องเด็กป่วย ฯ มีการพบแพทย์แบบผู้ป่วยทั้งแพทย์ทั่วไปและจิตแพทย์แบบผู้ป่วยนอกสูงกว่าพี่น้องของเด็กทั่วไปอย่างสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน(p<0.0001)
- แต่ไม่พบว่ามีปัญหาทางจิตวิทยาที่รุนแรงต่างกันในทั้งกลุ่มศึกษาและกลุ่มเปรียบเทียบ
- มารดาและเด็กพี่น้องเด็กป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดปัญหาทางสุขภาพทั้งกายและใจ คือ
o มารดามีอายุน้อยในช่วงเด็กได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง
o ครอบครัวมีปัญหาทางเศรษฐกิจ
o มีถิ่นอาศัยในชนบท
- ส่วนวิธีรักษามะเร็งไม่มีผลเพิ่มปัญหาทางสุขภาพของมารดาและเด็กพี่น้อง
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า แพทย์และบุคคลากรที่ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเด็ก ควรต้องดูแลครอบครัวโดยเฉพาะมารดาและพี่น้องเด็กป่วยด้วยโดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพจิต และควรต้องเพิ่มการดูแลและช่วยเหลือในกลุ่มครอบครัวที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดผลกระทบทางสุขภาพทั้งกาย/ใจ
แหล่งข้อมูล:
- JCO 2020,38(1): 43-50(abstract)