คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งเต้านมระหว่างรังสีรักษา2เทคนิค
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 สิงหาคม 2563
- Tweet
การรักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกที่โรคยังจำกัดอยู่เฉพาะเต้านมและก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กไม่เกิน 25 มิลลิเมตร มีหลายวิธี ที่นิยมวิธีหนึ่ง คือ การผ่าตัดเก็บเต้านมไว้ ด้วยการผ่าเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออกแล้วรักษาต่อเนื่องด้วยการฉายรังสีรักษา ซึ่งทั่วไปการฉายรังสีฯกรณีนี้ คือ
- การฉายฯแบบมาตรฐาน เทคนิคคือ ฉายรังสีคลุมทั้งเต้านม โดยเป็นการฉายแบบ 2 มิติ หรือ 3มิติ ทั้งหมด 25 ครั้ง 5 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมทั้งหมด5-6สัปดาห์ ปริมาณรังสีแต่ละครั้ง=2 Gray(Gy) รวมทั้งหมด 50 Gy หลังจากนั้นลดเนื้อที่ฉายลงคลุมเฉพาะรอยเดิมของก้อนมะเร็ง ฉายเพิ่มอีก 5วัน/ 10Gy รวมที่เต้านมทั้งหมดได้ปริมาณรังสี 50Gy และที่รอยโรคได้ 60Gy
- การฉายฯแบบครอบคลุมเฉพาะรอยโรคและฉายในระยะเวลาสั้นด้วยเทคนิค3มิติ มักใช้เทคนิคที่เรียกว่า IMRT โดยฉายวันละ6Gyติดต่อกัน5วัน รวมปริมาณรังสี=30Gy ซึ่งวิธีนี้ จะประหยัดเวลาในการรักษาของผู้ป่วย ลดปัญหาในการลางาน ค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมถึงค่าเดินทาง และช่วยลดคิวการฉายรังสีให้สั้นลงเป็นอย่างมาก
คณะแพทย์จาก เมืองฟลอร์เลน ประเทศอิตาลี นำโดย นพ. I. Meattini จึงได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการฉายรังสีทั้ง2วิธีว่า ให้ประสิทธิผลต่างกันอย่างไรในระยะ10ปีหลังการรักษา ในด้านอัตรารอดชีวิต, อัตราเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่เต้านม, อัตราการแพร่กระจายทางกระแสเลือดของโรค, ผลข้างเคียง และได้รายงานผลการศึกษาในการประชุมวิชาการเฉพาะโรคมะเร็งที่สหรัฐอเมริกา San Antonio Breast Cancer Symposium เมื่อ 10-14 ธันวาคม 2019
การศึกษานี้ ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหญิงชาวอิตาลีช่วง มีนาคม 2005 ถึง มิถุนายน 2013 ทั้งหมด 520 ราย เป็นการศึกษาแบบเปรียบเทียบเปรียบสุ่มตัวอย่างล่วงหน้า(PhaseIII) โดยมีผู้ป่วยกลุ่มศึกษา(ฉายรังสีฯเฉพาะรอยโรคที่เต้านม)=260 รายเท่ากับกลุ่มควบคุม(ฉายรังสีคลุมทั้งเต้านม)คือ 260 ราย ผลที่ได้รับคือ
- ผู้ป่วยอายุตั้งแต่40ปีขึ้นไป อายุกึ่งกลาง(median age)กลุ่มฉายเฉพาะรอยโรคฯ=63.6 ปี, กลุ่มฉายฯทั้งเต้านม=61.6ปี ไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติทั้ง2กลุ่ม(p=0.20)
- ระยะกึ่งกลางในการติดตามโรคของ กลุ่มฉายเฉพาะรอยโรคฯ=10.1 ปี, กลุ่มฉายฯทั้งเต้านม=10.4 ปี ซึ่งไม่ต่างกันฯ (p=0.39)
- อัตราเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่เต้านมที่10ปี: กลุ่มฉายเฉพาะรอยโรคฯ = 3.74 %, กลุ่มฉายฯทั้งเต้านม= 2.5%, ไม่ต่างกันฯ (p=0.58)
- อัตราเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่เต้านม+ต่อมน้ำเหลืองที่10ปี: กลุ่มฉาย เฉพาะรอยโรคฯ = 3.9%, กลุ่มฉายฯทั้งเต้านม= 3.0 %, ไม่ต่างกันฯ (p=0.59)
- อัตราปลอดจากการแพร่กระจายทางกระแสเลือดที่10ปี: กลุ่มฉายเฉพาะรอยโรคฯ = 97.4 %, กลุ่มฉายฯทั้งเต้านม= 96.1 %, ไม่ต่างกันฯ(p= 0.45)
- อัตรารอดชีวิตที่10ปี: กลุ่มฉายเฉพาะรอยโรคฯ=95.4%, กลุ่มฉายฯทั้งเต้านม=94.3%, ไม่ต่างกันฯ( p= 0.33)
- ผลข้างเคียงระยะเฉียบพลันระดับ Grade2 (รุนแรงปานกลาง)ขึ้นไป ต่อผิวหนังที่10ปี: กลุ่มฉายเฉพาะรอยโรคฯ= 21.1%, กลุ่มฉายฯทั้งเต้านม= 66.5%, ซึ่งต่างกันฯ(p= 0.0001)
- ผลข้างเคียงที่ผิวหนังระยะยาวระดับตั้งแต่ Grade2ขึ้นไป ที่10ปี: กลุ่มฉายเฉพาะรอยโรคฯ=4.5%, กลุ่มฉายฯทั้งเต้านม=30%, ซึ่งต่างกัน(p= 0.0001)
- ผลข้างเคียงอื่นๆระยะยาวระดับตั้งแต่ Grade2ขึ้นไป ที่10ปี: กลุ่มฉายเฉพาะรอยโรคฯ=0%, กลุ่มฉายฯทั้งเต้านม=2.7%, ซึ่งต่างกัน(p= 0.015)
คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า ผลการรักษาโดยฉายรังสีเฉพาะรอยโรคฯ เมื่อเปรียบเทียบที่10ปีหลังรักษากับกลุ่มที่ฉายฯทั้งเต้านม ให้ผลในด้านควบคุมโรค และอัตรารอดชีวิตไม่แตกต่างกัน แต่ให้ผลในด้านผลข้างเคียงน้อยกว่า ส่งผลให้ มีผลด้านความสวยงามของเต้านมดีกว่า
แหล่งข้อมูล: