คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ธรรมชาติของมะเร็งกล้ามเนื้อลายในผู้ใหญ่
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 27 กรกฎาคม 2563
- Tweet
มะเร็งกล้ามเนื้อลาย(Rhabdomyosarcoma) เป็นมะเร็งพบได้เรื่อยๆ ไม่บ่อย มักพบในเด็กวัยต่ำกว่า10ปี โดยพบเป็นประมาณ 3-5%ของมะเร็งเด็กทุกชนิด พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่เป็นโรคพบน้อยในผู้ใหญ่วัยตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งในผู้ใหญ่ยังไม่มีการศึกษาธรรมชาติของโรคนี้อย่างชัดเจน ทั่วไปการศึกษามะเร็งกล้ามเนื้อลายที่ผ่านมามักเป็นการศึกษาผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ร่วมกัน
มะเร็งกล้ามเนื้อลายมีหลายชนิดย่อย แต่ที่พบบ่อยมี 2 ชนิดคือ ชนิดเป็นเซลล์ตัวอ่อน( Embryonal rhabdomyosarcoma) และชนิดเป็นเซลล์ต้นกำเนิดกล้ามเนื้อลาย( Alveolar rhabdomyosarcoma)
คณะแพทย์โรคมะเร็งจาก ประเทศสหราชอาณาจักร โรงพยาบาล Royal Marsden นำโดยนพ. C. Drabbe จึงต้องการศึกษาถึงธรรมชาติของมะเร็งกล้ามเนื้อลายทั้ง 2 ชนิดนี้ในผู้ใหญ่ว่าเป็นอย่างไร ต่างจากในเด็กหรือไม่ และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งของชาติตะวันตก ชื่อ Clinical Oncology ฉบับเดือน มกราคม ค.ศ. 2020 (ทางอินเทอร์เน็ต)
อนึ่ง ที่จะเล่าต่อไปนี้ จะกล่าวรวมมะเร็งทั้ง 2 ชนิดย่อยไปด้วยกัน โดยเรียกว่า มะเร็งกล้ามเนื้อลาย ซึ่งก็จะหมายถึงมะเร็งกล้ามเนื้อลายในผู้ใหญ่เท่านั้น
การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งกล้ามเนื้อลายผู้ใหญ่ของโรงพยาบาล Royal Marsden ช่วงปี ค.ศ.1990-2016
- เป็นผู้ป่วยฯทั้งหมด 66 ราย ผู้ชาย 42ราย ผู้หญิง 24 ราย ช่วงอายุ 18-71 ปี(อายุกึ่งกลาง/มัธยฐาน/median age คือ 28 ปี)
- เป็นผู้ป่วยระยะโรค ยังไม่แพร่กระจาย = 58%
- เป็นผู้ป่วย ระยะโรคแพร่กระจาย = 42%
- อัตรารอดที่ห้าปีของผู้ป่วยรวมทั้งหมด=27%
- อัตรารอดที่ห้าปีของผู้ป่วยระยะโรค ยังไม่แพร่กระจาย = 36%
- อัตรารอดที่ห้าปีของผู้ป่วยระยะโรค แพร่กระจาย = 11%
คณะผู้ศึกษา สรุปว่า มะเร็งกล้ามเนื้อลายในผู้ใหญ่มีความรุนแรงโรค(การพยากรณ์โรค)แย่กว่าในเด็กมาก (โดยในเด็กอัตรารอดที่ห้าปีของทุกระยะโรค=70%, ตัวเลขจากการศึกษาอื่น) จึงควรมีการศึกษาที่จริงจังถึงวิธีรักษาโรคนี้ในผู้ใหญ่โดยเฉพาะชนิดของยาเคมีบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการรักษาโรคนี้ในผู้ใหญ่ อย่างน้อยก็ให้ใกล้เคียงกับในเด็ก
แหล่งข้อมูล: