คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 20 กรกฎาคม 2563
- Tweet
มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในที่นี้หมายรวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนในช่องท้อง(Colon cancer)และมะเร็งไส้ตรง(ลำไส้ใหญ่ส่วนในอุ้งเชิงกราน/Rectal cancer)ที่รวมเรียกว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรง(Colorectal cancer) เป็นมะเร็งพบบ่อยติด1ใน 10 ของมะเร็งพบบ่อยทั้งหญิงและชายทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อ ค.ศ. 2558 พบเป็นมะเร็งพบบ่อยลำดับ3ของมะเร็งในชายไทย และลำดับ4ในหญิงไทย ซึ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงเป็นมะเร็งที่มีการตรวจคัดกรองให้พบได้ตั้งแต่โรคยังไม่มีอาการในกลุ่มประชากรทั่วไป และวิธีตรวจคัดกรองทั่วไปมักใช้ตามคำแนะนำขององค์กรแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการปรับแก้ไขเป็นระยะๆตามการศึกษาวิจัยที่มีมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองฯ, เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตรวจ, และเพื่อความสะดวกของประชากรทั่วไป
องค์กรแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (ACP: the American College of Physicians) ซึ่ง นำโดย โดย นพ. Amir Qaseem และคณะ ได้ปรับปรุงแนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งลำไส้ตรงในในผู้ใหญ่สำหรับประชากรทั่วไปของสหรัฐอเมริกาที่จะใช้ตั้งแต่นี้ไป และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Annals of Internal Medicine ฉบับ 5 พฤศจิกายน 2019 สรุปได้ดังนี้
- เป็นคำแนะนำใช้สำหรับประชากรผู้ใหญ่ทั่วไป สหรัฐอเมริกา ควรตรวจคัดกรองมะเร็งกลุ่มนี้ในช่วงอายุ 50-75 ปี
- สามารถเลิกตรวจคัดกรองฯได้เพราะประโยชน์ที่ผู้ป่วยได้รับไม่ชัดเจน ใน
o ประชากรทั่วไปที่มีอายุมากกว่า 75 ปี หรือ
o ประชากรผู้ใหญ่ทั่วไปทุกอายุ ที่แพทย์วินิจฉัยว่า จะมีอายุอยู่ต่อไปได้ เท่ากับหรือน้อยกว่า 10ปี
- โดยก่อนตรวจคัดกรองแพทย์ต้อง พูดคุย, ให้คำปรึกษากับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยให้ทุกคนเข้าใจถึง ประโยชน์ที่จะได้รับ, ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการตรวจ, ค่าใช้จ่าย, ตารางการตรวจ, ความถี่, และความต่อเนื่องในการตรวจ
- การตรวจคัดกรองฯ มีหลากหลายวิธี การจะใช้วิธีใด ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ และในผู้ป่วยบางราย อาจจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน
- วิธีตรวจคัดกรองฯต่างๆและคำแนะนำทั่วไป ได้แก่
o แนะนำตรวจอุจจาระด้วยเทคนิคเฉพาะเพื่อตรวจหาเลือดที่ออกจากลำไส้และปนมาในอุจจาระที่ เรียกว่า Fecal immunochemical testing หรือ High sensitivity guaiac-based fecal occult blood testing โดยควรตรวจทุก 2 ปี
o ตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ทุก 10 ปี
o หรือ ตรวจส่องกล้องเฉพาะลำไส้ใหญ่ส่วนต่อกับไส้ตรง(ลำไส้คด)และไส้ตรงด้วยกล้องชนิดโค้งงอได้(Flexible sigmoidoscopy)ทุก 10 ปี ร่วมกับตรวจอุจจาระเทคนิค Fecal immunochemical testing ทุก 2 ปี
แหล่งข้อมูล: