คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ความสัมพันธ์ระหว่างระยะโรคมะเร็งกับอาการ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 13 กรกฎาคม 2563
- Tweet
ทั่วไป แพทย์และประชาชนมักเชื่อกันว่า เมื่อมีอาการในโรคมะเร็งมักหมายความว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะที่4แล้ว คณะนักระบาดวิทยาจากสหราชอาณาจักร/อังกฤษ นำโดยนักระบาดวิทยา ดร. Minjoung Monica Koo แห่ง Department of Behavioural Science and Health, University College London จึงต้องการศึกษาว่า อาการพบบ่อยของมะเร็งพบบ่อย 12 ชนิด มีความสัมพันธ์กับระยะโรคมะเร็งอย่างไร และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง Lancet Oncology ซึ่งเผยแพร่ทางอินเทอร์เนทเมื่อ 5 พ.ย 2019
คณะผู้ศึกษาแบ่งระยะโรคมะเร็งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่โรคยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆทั้งทางกระแสเลือด/และ/หรือทางระบบน้ำเหลือง(โรคระยะที่1-3), และกลุ่มที่มะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะต่างๆแล้ว(ระยะที่4)
มะเร็งพบบ่อยทั้ง 12 ชนิด(ไม่เรียงตามลำดับพบน้อยหรือมาก) ได้แก่ มะเร็งเต้านม, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนช่องท้อง, มะเร็งไส้ตรง, มะเร็งกล่องเสียง, มะเร็งปอด, มะเร็งไฝ, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, มะเร็งช่องปากและคอหอย, มะเร็งรังไข่, มะเร็งต่อมลูกหมาก, และมะเร็งไต
อาการทั่วไปที่พบบ่อยของมะเร็ง คือ มีไฝผิดปกติ, มีก้อนที่เต้านม, เลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน, อุจจาระเป็นเลือด, อาการผิดปกติของการปัสสาวะ, ปัสสาวะเป็นเลือด, ความผิดปกติในการถ่ายอุจจาระ, อ่อนเพลีย, เสียงแหบ, ปวดท้อง , ปวดอุ้งเชิงกราน , ผอมลง, ปวดหลัง, มีก้อนที่คอ
ผลการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ Cross-sectional study ใช้ข้อมูลในปี 2014 จาก the English National Cancer Diagnosis เป็นข้อมูลจากผู้ป่วยมะเร็ง 7,997 รายซึ่งเป็นมะเร็งที่ไม่ใช่มะเร็งระบบโรคเลือด และมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป คณะผู้ศึกษาพบว่า
- อาการที่มักสัมพันธ์กับมะเร็งระยะที่4 คือ การมี ก้อนที่ลำคอ, ปวดหลัง, และ เจ็บหน้าอก โดยอาจมีเพียงอาการเดียว หรือร่วมกับอาการอื่นๆก็ได้
- ส่วนอาการอื่นๆ โดยเฉพาะ ก้อนที่เต้านม, เสียงแหบ, มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน, อุจจาระเป็นเลือด, การมีไฝผิดปกติ, ไม่สัมพันธ์กับมะเร็งระยะที่4 เสมอไป ซึ่งมีการศึกษายืนยันจากการศึกษาอื่นๆประมาณ 20 การศึกษาว่า อาการเหล่านี้ มากกว่า 50%ของผู้ป่วยไม่ใช่มะเร็งระยะที่4
คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า การศึกษานี้ น่าจะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความกังวลลงได้ในระดับหนึ่งว่า เมื่อมีอาการแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งระยะที่ 4 เสมอไป
แหล่งข้อมูล:
- Gyn Oncol 2019;155(2):229-236
- https://www.thelancet.com/journals/lanonc/article/PIIS1470-2045(19)30595-9/fulltext[2020,June1]