คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยต่อการเสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-359

มะเร็งรังไข่ชนิดที่เซลล์มะเร็งเกิดจากเยื่อบุผิว(Epithelial ovarian cancer)เป็นมะเร็งของสตรีวัยผู้ใหญ่ขึ้นไป ที่เป็นเกือบทั้งหมดของมะเร็งรังไข่ทุกชนิด ดังนั้นเมื่อกล่าวถึง ‘มะเร็งรังไข่’ จะหมายถึงมะเร็งในกลุ่มนี้

มะเร็งรังไข่ มีธรรมชาติของโรคค่อนข้างรุนแรง การที่ได้ทราบว่า อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มอัตราเสียชีวิต จะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกวิธีรักษาผู้ป่วยได้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆบุคคลไป

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ ที่ศึกษาเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นโดยเลือกปัจจัยที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปรวมถึงผู้ป่วยทุกคน ซึ่งได้แก่ ดัชนีมวลกาย(ค่าบอกความผอม-อ้วน) และลักษษะการออกกำลังกาย เช่น ทุกวัน , 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์, หรือหักโหม เป็นต้น

การศึกษานี้เป็นการศึกษาจากคณะคณะแพทย์มะเร็งนรีเวช สหรัฐอเมริกา นำโดย พญ.Abigail S. Zamorano จาก มหาวิทยาลัย Washington University School of Medicine, St. Louis, MO และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็งชื่อ Gynecologic oncology ฉบับเดือนตุลาคม ศ.ศ. 2019 ซึ่งเป็นการศึกษาจากข้อมูลของ the NIH-AARP Diet and Health Study คณะแพทย์ต้องการศึกษาถึงปัจจัยฯก่อนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น มะเร็งรังไข่ คือ ดัชนีมวลกาย และ การออกกำลังกาย ซึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่ศึกษาทั้งหมด 741 ราย

ผลการศึกษา:

  • เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตในภาพรวมจากทุกสาเหตุ(Overall mortality rate) พบว่า อัตราเสียชีวิตในภาพรวมจะสูงกว่าในผู้มีดัชนีมวลกายสูงก่อนเป็นมะเร็งฯอย่างมีความสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีดัชนีมวลกาย ≥ 35 (p-trend=0.02)
  • อัตราเสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่โดยตรง(Ovarian cancer-specific mortality)จะสูงกว่าอย่างมีความสำคัญทางสถิติในผู้มีค่าดัชนีมวลกายสูงก่อนเป็นมะเร็งโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีดัชนีมวลกาย  ≥ 35 (p-trend=0.08)
  • แต่ลักษณะการออกกำลังกายไม่มีผลต่ออัตราเสียชีวิตอย่างสำคัญทางสถิติทั้ง2รูปแบบ (p-trend=0.91)

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ในการใช้ชีวิตประจำ ควรดูแลรักษาสุขภาพเพื่อไม่ให้เกิดภาวะโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินซึ่งจะช่วยลดอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Gynecologic oncology 2019; 155(1): 105-111 (abstract)