คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบผลการรักษาในมะเร็งไฝ/มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 25 พฤษภาคม 2563
- Tweet
มะเร็งไฝหรือมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา เป็นมะเร็งผิวหนังพบน้อยในบ้านเรา แต่พบบ่อยในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยพบบ่อยเกิดที่ผิวหนังส่วนลำตัวและส่วนแขน-ขา เป็นมะเร็งผิวหนังที่ปัจจัยเสี่ยงหนึ่งคือ จากผิวหนังถูกแสงแดดแรงต่อเนื่อง มะเร็งชนิดนี้มีธรรมชาติรุนแรงกว่ามะเร็งผิวหนังชนิดอื่น และมักลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงรอยโรค(Regional node)โดยต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกเริ่มที่มีเซลล์มะเร็งลุกลามก่อนที่จะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองอื่นๆเรียกว่า Sentinel node
หลักการรักษามะเร็งไฝ คือ การผ่าตัดรอยโรคร่วมกับผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองSentinelออก ซึ่งภายหลังผ่าตัดและตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อและต่อมน้ำเหลืองSentinel ที่ได้จากผ่าตัด ถ้าพบว่ามีเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองSentinel การรักษาลำดับต่อไปมี2วิธีหลัก คือ วิธีแรก: ไม่มีการรักษาต่อเนื่อง เพียงเฝ้าติดตามโรค, วิธีที่2คือ ให้การรักษาต่อเนื่องด้วยการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงรอยโรค(Regional node)ออกทั้งหมด ซึ่งวิธีที่2นี้จะมีผลข้างเคียงมากกว่าวิธีแรกคือ แผลผ่าตัดจะหายช้ากว่า และผลข้างเคียงที่อาจนำมาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง คือ ภาวะบวมน้ำเหลืองของอวัยวะที่ถูกผ่าตัด ส่งผลให้อวัยวะนั้นๆทำงานได้น้อยลง และติดเชื้อได้ง่าย เช่น ขาบวมมากกรณีรอยโรคอยู่ที่ขาและอาจบวมลุกลามไปถึงอวัยวะเพศ
คณะแพทย์ผิวหนังของกลุ่ม German Dermatologic Cooperative Oncology Groupจากหลายโรงพยาบาลในประเทศเยอรมัน และ1โรงพยาบาลจากประเทศเนเทอร์แลนด์ ได้ร่วมกันศึกษาเพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาทั้ง 2วิธีดังกล่าวว่า จะแตกต่างกันไหมเมื่อติดตามผู้ป่วยไปแล้วอย่างน้อย5ปี โดยเปรียบเทียบในด้าน อัตราการแพร่กระจายทางกระแสโลหิตของโรค, อัตราการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรค, อัตรารอดที่ห้าปี, และผลข้างเคียงจากการรักษา, ซึ่งคณะผู้ศึกษานำโดย นพ. Ulrike Leiter จากมหาวิทยาลัย Eberhard Karls University ประเทศเยอรมัน และได้ตีพิมพ์เผยแพร่การศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา Journal of Clinical Oncology (JCO)ฉบับ วันที่10 พย ค.ศ.2019
การศึกษานี้รวบรวมผู้ป่วยมะเร็งไฝในช่วง มกราคม ค.ศ.2006-ธันวาคม ค.ศ. 2014 โดยศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งไฝที่มีเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองSentinelที่ได้รับการรักษาโดยผ่าตัดรอยโรค+ต่อมน้ำเหลืองSentinel หลังจากนั้นเฝ้าติดตามโรค กลุ่มนี้มีผู้ป่วยทั้งหมด 241ราย(ขอเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า กลุ่มเฝ้าติดตามโรค), ส่วนผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ได้รับการรักษาโดยผ่าตัดรอยโรค+ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงรอยโรคออกทั้งหมด(ขอเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า กลุ่มผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง)กลุ่มนี้มีทั้งหมด242ราย
ผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มได้รับการติดตามโรคโดยมีระยะกึ่งกลาง(median time) 72 เดือน(ช่วง67-77เดือน) เมื่อติดตามโรคที่5ปี
- อัตราการเกิดมะเร็งแพร่กระจายทางกระแสโลหิตของผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มไม่ต่างกันทางสถิติ (p=0.87), กลุ่มเฝ้าติดตามโรค=67.6% , กลุ่มผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง=64.9%
- อัตราโรคย้อยกลับเป็นซ้ำ(HR=1.01) และอัตรารอดที่ห้าปี(HR=0.99)ของทั้ง2กลุ่มก็ไม่ต่างกันทางสถิติ
- ผลข้างเคียงที่รุนแรง(Grade3,4)จากการผ่าตัด พบเฉพาะในกลุ่มผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง=13%, โดยพบบวมน้ำเหลือง=20ราย, แผลผ่าตัดหายช้า=5ราย
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ผลจากการศึกษานี้สนับสนุนว่า ผู้ป่วยมะเร็งไฝที่ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองSentinelแล้วพบมีมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองSentinel การรักษาควรเป็นการเฝ้าติดตามโรค ไม่จำเป็นที่จะต้องรักษาต่อเนื่องด้วยการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง(Regional node)
แหล่งข้อมูล:
- JCO 2019; 37(32):3000-3008 (abstract)