คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากจากการตัดชิ้นเนื้อ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 18 พฤษภาคม 2563
- Tweet
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ให้ผลแม่นยำ ทั่วไปคือ การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรค/จากตำแหน่งโรคในต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนักโดยการใช้อัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยระบุรอยโรค แต่กรณีที่ผลการตัดชิ้นเนื้อฯจากการตรวจทางพยาธิวิทยา ไม่พบเซลล์มะเร็ง แต่ค่าสารมะเร็งPSAยังสูงอยู่ แพทย์จึงมักแนะนำการตัดชิ้นเนื้อซ้ำ ซึ่งการตัดชิ้นเนื้อซ้ำนี้ อาจใช้อัลตราซาวด์วิธีเดียว หรือ ใช้อัลตราซาวด์ร่วมกับการตรวจเอมอาร์ไอต่อมลูกหมากซึ่งเป็นเทคนิคที่สูงขึ้น
แพทย์จากหน่วยศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงต้องการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลกรณีต้องตัดชิ้นเนื้อซ้ำฯ ระหว่างใช้อัลตราซาวด์วิธีการเดียวเป็นตัวช่วยระบุรอยโรค กับการใช้อัลตราซาวด์+เอมอาร์ไอฯ ซึ่งการศึกษานี้นำโดย นพ.นพ. วิสูตร คงเจริญสมบัติ และได้รายงานผลศึกษาในวารสารการแพทย์ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย J Med Assoc Thai ฉบับประจำเดือน ตุลาคม 2562
การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังจากเวชระเบียนผู้ป่วยที่ได้รับการตัดชิ้นเนื้อผ่านทางทวารหนัก รพ.รามาธิบดีช่วง มค. 2558- กค. 2560 มีผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากซ้ำเป็นครั้งที่2 หลังการตรวจครั้งแรกที่ใช้อัลตราซาวด์ช่วยระบุรอยโรคทั้งหมด 111 ครั้ง โดยเป็นผู้ป่วยที่ใช้อัลตราซาวด์+เอมอาร์ไอช่วยระบุรอยโรค 39 ครั้ง, ใช้อัลตราซาวด์วิธีเดียว 72 ครั้ง
ผลพบว่า
- การใช้เอมอาร์ไอ+อัลตราซวด์ ตรวจพบมะเร็งได้สูงกว่า(41.0%)การใช้อัลตราซาวด์วิธีเดียว(8.3%) ซึ่งต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ(p<0.005)
- ผลตรวจของทั้ง2วิธีไม่ต่างกันทางสถิติเมื่อดูจากค่า PSA(p=0.191) หรือ ขนาดของต่อมลูกหมาก(p=0.063)
- การตรวจพบมะเร็งในกลุ่มที่ตรวจด้วยเอมอาร์ไอ+อัลตราซาวด์ คือ
o เมื่อผลตรวจเอมอาร์ไอให้ค่า PI-RADS score 3 ผู้ป่วยทุกรายจะตรวจไม่พบเซลล์มะเร็ง
o เมื่อผลตรวจเอมอาร์ไอให้ค่า PI-RADS score 4 ผู้ป่วย 45%(10ใน22ราย) ตรวจพบเซลล์มะเร็ง
o เมื่อผลตรวจเอมอาร์ไอให้ค่า PI-RADS score 5 ผู้ป่วย 75%(6ใน8ราย) ตรวจพบเซลล์มะเร็ง
คณะแพทย์ฯสรุปผลการศึกษาว่า การตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนักเป็นครั้งที่2 หลังครั้งแรกใช้อัลตราซาวด์ช่วยระบุรอยโรควิธีเดียว การตรวจซ้ำด้วยการใช้เอมอาร์ไอ+อัลตราซาวด์ให้ประสิทธิผลตรวจพบเซลล์มะเร็งได้สูงกว่าการใช้อัลตราซาวด์ช่วยเพียงวิธีเดียว
แหล่งข้อมูล:
- J Med Assoc Thai 2019; 102(10): 1046-1052