คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน โรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยรอดชีวิตจากโรงมะเร็ง
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 11 พฤษภาคม 2563
- Tweet
สมาคมด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ American Society of Clinical Oncology ย่อว่า ASCO ได้แนะนำแพทย์โรคมะเร็งถึงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระยะที่โรคยังไม่แพร่กระจายในทุกเพศ โดยเฉพาะผู้พ้นวัยเด็กแล้วถึงการมีโอกาสสูงในการเกิดโรคกระดูกพรุน
การเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เกิดจากหลายปัจจัย ปัจจัยสำคัญคือ ผลกระทบจากกระบวนการเกิดมะเร็งที่ส่งผลให้เซลล์ทุกชนิดของร่างกายมีการอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ ส่งผลให้เซลล์กระดูกเกิดโรคกระดูกพรุนและเปราะแตกหักได้ง่าย, นอกจากนั้นคือ ผลข้างเคียงของวิธีรักษาโรคมะเร็ง เช่นจาก ยาเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษา หรือการผ่าตัดอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนต่างๆ ดังนั้น ASCO จึงได้แนะนำแพทย์โรคมะเร็งให้สมควรดูแล ป้องกัน และให้การรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยฯในเรื่องเหล่านี้ด้วย
ซึ่งคำแนะนำนี้นำเสนอโดยคณะแพทย์โรคมะเร็งของสมาคม ทำรายงานนำโดย นพ. Charles L. Shapiro แห่ง โรงพยาบาล Mount Sinai Hospital, New York, NY Medical oncology และได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง JCO หรือ J Clin Oncol หรือ Journal of Clinical Oncology ฉบับ 1 พย 2019
ASCO ระบุว่า ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากมะเร็งที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนสูง ได้แก่
- ผู้สูงวัยทั้งหลาย
- สูบบุหรี่ต่อเนื่อง
- ดื่มสุราต่อเนื่อง
- มีประวัติเคยมีกระดูกหักที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุมาก่อน
- มีฮอร์โมนเพศต่ำ
- มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย
- ผู้ที่มีการทรงตัวไม่ดี มีโอกาสล้มสูง
- ใช้ยาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง
- ผอม
- บิดามารดามีประวัติกระดูกสะโพกหัก
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
คำแนะนำจากASCOคือ แพทย์ควรตรวจความแข็งแรงของกระดูกในผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นระยะๆ ซึ่งคือ การตรวจความหนาแน่นของกระดูก ร่วมกับให้คำแนะนำดูแลผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของมวลกระดูก ได้แก่
- เลิกบุหรี่ เลิกดื่มสุรา หรือพยายามลดลงเรื่อยๆให้เหลือน้อยที่สุด
- กินอาหารที่อุดมสมบูรณ์ด้วย วิตามิน และแคลเซียม หรือ อาจจำเป็นต้องเสริมวิตามินเกลื่อแร่เหล่านี้ที่ให้ความสมบูรณ์กับกระดูก
- แนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพผู้ป่วยแต่ละรายในทุกๆวัน
- ในผู้มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย อาจจำเป็นต้องปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวร่างกาย
- แพทย์อาจจำเป็นต้องเพิ่ม/ให้การรักษาให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีมวลกระดูกที่เป็นปกติด้วยการใช้ยาต่างๆตามดุลพินิจของแพทย์และความรุนแรงของโรคกระดูกพรุน เช่น ฮอร์โมนเพศ, ยาในกลุ่มยา Bisphosphonates
แหล่งข้อมูล:
- J Clin Oncol 2019; 37:2916-2946